สปสช.แจงยิบการจ่ายเงิน-ดูแลเคสผู้ป่วยรักษาโฮม ไอโซเลชั่น

24 ส.ค. 2564 | 09:36 น.

สปสช.แจงยิบการจ่ายเงิน-ดูแลเคสผู้ป่วยรักษาโฮม ไอโซเลชั่น กทม. ถูกจับคู่กับ รพ.สิชล ระบุต้องส่งต่อ เหตุมีผู้ติดเชื้อรอคิวถึง 3 หมื่นราย

จากกรณีที่มีเคสแจงเคสผู้ติดเชื้อโควิด กทม.ในระบบดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI) ร้องเรียนว่าถูกจับคู่กับ รพ.สิชล และไม่ได้รับการดูแลถึง 10 วัน ย้ำหลักการเบิกจ่ายเงินค่าดูแลผู้ติดเชื้อโควิด HI ต้องมีการจัดบริการจริงเท่านั้น ระบุ เหมาจ่าย 3,000 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้หน่วยบริการ แต่หากตรวจสอบด้วยระบบ “ยืนยันตัวตน” ควบคู่กับการโทรศัพท์คอนเฟิร์มผู้ติดเชื้อแล้วพบว่าไม่มีการจัดบริการ หรือหน่วยบริการไม่ได้ทำเรื่องเบิกมาเพราะไม่ได้จัดบริการ ก็จะริบเงินคืน

 

ล่าสุด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเข้ารับการรักษาในระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน (Home isolation : HI) ร้องเรียนว่าถูกจับคู่ให้รับการรักษาจากโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช แต่สุดท้ายไม่ได้รับบริการใดๆ ร่วม 10 วันว่า ครอบครัวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับผลการยืนยันว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 หลังจากเข้ารับบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยช่วงนั้น สปสช. มีตัวเลขผู้ป่วยที่รอให้สายด่วน 1330 ช่วยประสานหาที่รักษามากถึง 3 หมื่นราย ขณะที่โรงพยาบาลและคลินิกใน กทม. ก็เต็มทั้งหมด

 

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ชมรมแพทย์ชนบทเข้ามาเปิดปฏิบัติตรวจคัดกรองเชิงรุกใน กทม.พอดี จึงได้สอบถามไปยังแพทย์ชนบทว่าในเมื่อเดินทางมาตรวจถึง กทม.แล้ว จะขอให้ช่วยดูแลผู้ป่วยใน กทม.ด้วยได้ไหม โดยตอนนั้นเป็นรอบสองก็อาจจะยังไม่พร้อม ซึ่งโรงพยาบาลสิชลได้ตอบรับว่า หากยังไม่สามารถหาหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยได้ ก็ยินดีที่เข้ามาช่วยดูแล

 

 

ทั้งนี้ สปสช. ได้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ค้างอยู่ในระบบส่งให้เป็นรอบๆ โดยวันที่ 24 ก.ค. 2564 มีการส่งให้โรงพยาบาลสิชลจำนวน 3,000 ราย เพื่อให้โรงพยาบาลพิจารณาว่าจะสามารถรับผู้ป่วยได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีของครอบครัวผู้ป่วยที่มีการร้องเรียนนั้น ได้รับข้อความหรือ SMS ว่าเข้าร่วมโครงการ HI โดยโรงพยาบาลสิชลในวันที่ 2 ส.ค. 2564 ซึ่งผู้ป่วยเข้าระบบ HI กับ รพ.สิชล ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2564 จนประมาณวันที่ 5 ส.ค. 2564 ก็มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลติดต่อเข้ามา

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การที่ผู้ป่วยแจ้งว่าได้รับการติดต่อกลับมาจากโรงพยาบาลสิชล นั่นแสดงว่าข้อมูลของผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลแน่นอน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ 2 กรณี คือ 1. โรงพยาบาลทราบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.หรือไม่ว่ามีการส่งผู้ป่วยไป 2. โรงพยาบาลเพิ่งได้รับข้อมูลผู้ป่วยหลังจากที่โรงพยาบาลติดต่อผู้ป่วยไม่ได้ แล้วมีการนำข้อมูลกลับเข้ามาในระบบใหม่อีกรอบ

 

“โดยทางการแพทย์อาจจะเห็นว่าผ่านมาเกือบ 10 วันแล้ว อาจจะพ้นระยะอันตรายไปแล้ว ฉะนั้นในแง่ของความเจ็บป่วยคงไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ถ้ามองในแง่สิทธิของประโยชน์ที่ผู้ป่วยพึงได้รับ เช่น ไม่ได้รับการติดตามอาการ ไม่ได้รับอาหาร หรืออุปกรณ์ ตรงนี้ผมเห็นด้วยว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่พึงจะเรียกร้อง ซึ่งในกรณีเมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับบริการ โรงพยาบาลก็จะไม่ได้เงินจาก สปสช.” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. มีระบบการยืนยันตัวตนผู้ป่วย (Authentication Code) เพื่อใช้ติดตามว่าเกิดการรักษาขึ้นจริงหรือไม่ เพราะในอดีต สปสช. ตรวจพบการเบิกจ่ายผิดปกติของคลินิกชุมชนอบอุ่น เนื่องจาก สปสช.มีการจ่ายเงินไปก่อนแล้วค่อยตามไปตรวจ ดังนั้นปัจจุบัน สปสช.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินใหม่ โดยให้ตรวจก่อนแล้วจ่ายทีหลัง แต่การจ่ายทีหลังนี้ต้องจ่ายอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่หน่วยบริการ นั่นจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าเดิม 2 เท่า

 

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินหลังให้บริการก็จะทำให้คลินิกส่วนหนึ่งร้องเรียนว่าทำให้คลินิกไม่มีเงินหมุน ซึ่งเราได้กำหนดกติการ่วมกันว่า สปสช. จะมีการเหมาจ่ายเบื้องต้นก่อนเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท ถ้าพิสูจน์ได้ว่าให้บริการผู้ป่วยจริง

 

“สปสช.จะใช้ “ระบบยืนยันตัวตน” คือโรงพยาบาลจะต้องทำการพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการจริง ต้องเชื่อมผู้ป่วยกับโรงพยาบาล ต้องรู้เลขบัตรประชาชนผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปหรือการสแกน QR code หากไม่เกิดกรณีนี้ สปสช. ก็จะไม่จ่าย” นพ.จเด็จ กล่าว

 

นอกจากนี้ สปสช.จะโทรศัพท์ถามผู้ป่วยด้วย หากผู้ป่วยระบุว่าไม่ได้รับบริการ สปสช. ก็จะตัดเป็นรายการไป เช่น ถ้าไม่ได้รับอุปกรณ์ก็จะไม่มีการจ่ายค่าอุปกรณ์ ถ้าผู้ป่วยได้รับอาหาร 5 วัน ก็จะจ่ายค่าอาหารให้สำหรับ 5 วัน แต่กรณีที่โรงพยาบาลระบุว่าผู้ป่วยตอบไม่ตรงกับการจัดบริการจริง ก็ต้องนำหลักฐานเพื่อยื่นอุทธรณ์

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากรายการเบิกจ่าย จะพบว่าการจ่าย 1,000 บาทต่อวันต่อคน เป็นเวลา 14 วัน ก็จะเท่ากับ 1.4 หมื่นบาท ค่าอุปกรณ์อีก 1,100 บาท ก็จะเป็น 15,100 บาท รวมถึงค่ายาฟ้าทะลายโจรอีก 300 บาท จะเป็น 15,400 บาท ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ สามารถเบิกจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ จึงจะไม่มีการเรียกเก็บจาก สปสช.

 

“ดังนั้นถ้าให้บริการดูแลผู้ป่วย HI เต็มที่ 14 วัน หน่วยบริการก็จะได้เงินสูงสุด 15,400 บาท ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนวันที่ให้บริการ บางครั้งเป็นผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลมาแล้ว 10 วัน กลับมาเข้าระบบ HI ต่ออีก 4 วัน สปสช. ก็จะจ่ายเพียง 4 วัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า กรณีโรงพยาบาลสิชล สปสช.มีการโอนเงินเป็นจำนวน 19,707,000 บาท ถ้าหารด้วย 3,000 บาท ก็จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 ราย ดังนั้นถ้ากลับไปดูบริการจะเห็นว่า สปสช. มีการกระจายผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาล 1.8 หมื่นราย แต่ตรวจแล้วพบว่าเกิดบริการ 6 พันราย ซึ่งก็จะมีการตามไปตรวจสอบผ่านการเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยกับโรงพยาบาล หากมีการให้บริการบางอย่างแก่ผู้ป่วย สปสช. ก็จะจ่ายให้ล่วงหน้า 3,000 บาท

 

ทั้งนี้ หาก สปสช. พิสูจน์แล้วว่ามีการให้บริการจริงก็จะจ่ายเงินให้ แต่ถ้าไม่มีการบริการก็จะไม่จ่าย อย่างกรณีผู้ป่วย 1 ราย จะจ่ายให้ก่อน 3,000 บาท และหากโรงพยาบาลให้บริการทุกอย่างจนครบ 14 วัน ทางโรงพยาบาลก็จะได้รับเงิน 15,400 บาท โดย สปสช. ก็จะจ่ายให้กับโรงพยาบาลอีก 12,400 บาท เนื่องจากมีการจ่ายล่วงหน้าไปแล้ว 3,000 บาท

 

“แต่ถ้าไม่เกิดบริการ อย่างเช่นเราจ่ายไป 3,000 บาทแล้ว ปรากฏว่าโรงพยาบาลไม่เบิกเข้ามาเพราะรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้ให้บริการ เราก็จะเอาเงิน 3,000 บาทนั้นคืน ส่วนอีก 12,400 บาทก็จะไม่ได้ ยืนยันว่าถ้าไม่เกิดบริการก็จะไม่ให้” นพ.จเด็จ กล่าว.