อภัยโทษ - ปล่อยผู้ต้องขัง ก.ยุติธรรม ยันปลอดเชื้อโควิด 100%

30 ก.ค. 2564 | 04:09 น.

รมว.ยุติธรรม สั่งราชทัณฑ์เดินหน้าทำแผน ปล่อยตัวนักโทษ เข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ ยันไม่ปล่อยผู้พ้นโทษ-พักโทษติดโควิดออกไปเป็นภาระสังคม ต้องรักษาจนหาย-ตรวจให้แน่ใจ100% ก่อน

จากกรณี  27 กรกฎาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564 แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีอันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป  โดยคาด จะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ จำนวนประมาณ 30,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ ตามมาตรา 6 นอกจากนี้ ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับสิทธิ เข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวอีกกว่า 200,000 รายนั้น

 

ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแผนการปล่อยผู้ต้องขัง ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษว่า ขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2564 ในขั้นแรกกรมราชทัณฑ์จะแจ้งหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติให้กรมคุมประพฤติทราบ และสำนักงานคุมประพฤติสำรวจรายชื่อและส่งให้เรือนจำตรวจข้อมูลภายใน 15 วัน

 

จากนั้นเรือนจำแต่ละแห่งจะรวบรวมรายชื่อเสนอคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลและอัยการเป็นกรรมการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ซึ่งจะดำเนินการภายใน 120 วัน 

จากนั้นเรือนจำจะจัดทำบัญชีรายชื่อนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษหรือลดวันจำคุกและจัดส่งบัญชีรายชื่อให้สำนักงานคุมประพฤติโดยเร็วเพื่อยุติการคุมประพฤติ และสำนักงานคุมประพฤติจะแจ้งให้ผู้ถูกคุมความประพฤติไปติดต่อรับใบบริสุทธิ์ (รท25)ที่เรือนจำ

 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้สังคมตั้งคำถามว่าเราจะทำอย่างไรกับผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษหรือพักโทษแล้วติดโควิด-19 ดังนั้นตรงนี้เราต้องทำแผนให้ชัดเจนและเร่งตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเราจะไม่ปล่อยคนที่ติดเชื้อออกไป ตนได้กำชับกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วว่าเราจะรักษาให้หายก่อนที่จะปล่อย ส่วนผู้ที่ไม่มีเชื้อจะมีการตรวจสอบและเอกซเรย์ซ้ำจนให้มั่นใจว่าไม่มีติดเชื้อ เราต้องทำให้สังคมมีความมั่นใจ 100% ว่าเราไม่ได้ปล่อยภาระให้กับสังคม