คลัง จ่อชง ครม. ทิ้งทวนจัดงบกลางอุดหนุนซื้อรถยนต์ EV

10 ส.ค. 2566 | 23:20 น.

คลัง เตรียมชง ครม. ของบกลาง อุดหนุนซื้อรถยนต์ EV หลังจากวงเงินมาตรการเดิมกำลังจะใช้หมด 3,000 ล้านบาท ในเดือนกันยายน 2566 หลังคนแห่ซื้อรถเพียบ คาด กกต. ไฟเขียวเพราะเป็นมาตรการต่อเนื่อง

นโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ EV 3.0 วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยกรมสรรพสามิต เพื่ออุดหนุนส่วนลดในการซื้อรถยนต์ EV ไม่เกินคันละ 150,000 บาท ล่าสุดวงเงินสำหรับการอุดหนุนดังกล่าว จะรองรับได้แค่ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หรือถึงเดือนกันยายน นี้ เท่านั้น และจำเป็นต้องเสนอให้กับรัฐบาลเห็นชอบการช่วยเหลือในระยะต่อไป 

แต่ที่ผ่านมาการเสนอขออนุมัติวงเงินโครงการสนับสนุน EV ชุดนี้ ติดปมปัญหาสำคัญ เพราะไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทันในช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเต็ม และหากนำเสนอในช่วงรัฐบาลรักษาการ อาจติดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (1) เพราะจะผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว คลังของบกลาง อุดหนุนซื้อรถยนต์ EV

คลัง จ่อชงครม.ของบกลาง

ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุถึงกรณีนี้ว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเตรียมที่จะเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2566 นำมาใช้ในการสนับสนุนมาตรการ EV 3.0 ที่กำลังจะหมดลงในภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ 

“วงเงินที่จะเป็นส่วนช่วยอุดหนุนเป็นส่วนลดในการซื้อรถ EV จะหมดลงตั้งแต่เดือนก.ย.เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์ EV เป็นจำนวนมาก ทำให้วงเงินที่จะเป็นส่วนช่วยอุดหนุนเป็นส่วนลดในการซื้อรถยนต์ EV ไม่เพียงพอถึงสิ้นปี 2566 ตามอายุของมาตรการ EV 3.0 โดยประเมินว่า เงินที่ใช้จะหมดลงในเดือนกันยายน นี้ จึงต้องขอ ครม.อนุมัติวงเงินจากงบกลางฯบางส่วน เพื่อให้ปริมาณการซื้อ EV ของประชาชนไม่สะดุด”

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้วหาก ครม.ให้ความเห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขออนุมัติ ซึ่งแนวโน้มที่ กกต.จะอนุมัติก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการที่มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่มาตรการหรือโครงการใหม่ที่จะกระทบการบริหารงานของรัฐบาลหน้า

 

ภาพประกอบข่าว คลังของบกลาง อุดหนุนซื้อรถยนต์ EV

มาตรการ EV 3.5 รอรัฐบาลใหม่

ส่วนมาตรการสนับสนุนการใช้และผลิตรถอีวีที่เป็นชุดมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิม คือ มาตรการ EV 3.5 ที่มีทั้งการอุดหนุนส่วนลดให้กับผู้ซื้อรถอีวีคันละไม่เกิน 100,000  บาท รวมทั้งมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัทที่จะลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวีในประเทศไทย นั้น 

แหล่งข่าว ระบุว่า จะต้องรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เตรียมเสนอมาตรการนี้ ให้ครม.ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นมาตรการที่จะส่งเสริมการใช้และผลิตรถอีวีในประเทศไทย หลังจากมาตรการดังกล่าว เสนอไม่ทันรัฐบาลปัจจุบัน 

เหตุผลความจำเป็นที่ต้องของบ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ได้รับทราบว่า ที่ประชุมครม. เมื่อต้นปี 2565 ได้รับทราบแนวทาง การดำเนินนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3) และเห็นชอบในหลักการการจัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2568 วงเงิน 40,000 ล้านบาท จากแหล่งงบประมาณที่เหมาะสม 

โดยการขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการมาตรการ EV 3 นั้น กรมสรรพสามิตได้รายงานว่า มีจำนวนผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ ลงนามข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการ รวม 12 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการรถยนต์ 9 ราย และผู้ประกอบการ รถจักรยานยนต์ 3 ราย 

มีปริมาณของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 39,722 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวม 35,322 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวม 4,400 คัน โดยงบประมาณจำนวน 3,0000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังกล่าว สามารถรองรับการดำเนินมาตรการ EV 3 ได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หรือถึงเดือนกันยายน ปี 2566 เท่านั้น

 

ภาพประกอบข่าว คลังของบกลาง อุดหนุนซื้อรถยนต์ EV

 

สำหรับแหล่งงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนมาตรการ EV3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 นั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เห็นว่า ยังไม่สามารถนำเงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาใช้ดำเนินมาตรการได้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องขอบเขตและวัตถุประสงค์ ของการใช้เงินกองทุน 

ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต พิจารณาเสนอขอรับการจัดสรร งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปพลางก่อน โดยมีรายงานข่าวจากการะทรวงคลัง ระบุว่า เบื้องต้นกรมสรรพสามิต ประเมินว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ EV ที่จะมารับการอุดหนุนภายในปี 2566 นี้ด้วย