บุกฐานผลิต BYD เจาะปัจจัยดันยอดขายโตเท่าตัว

26 เม.ย. 2566 | 06:58 น.

รู้จัก BYD จากค่ายผลิตแบตเตอรี่สู่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของจีน ส่องกลยุทธ์-นโยบายปัจจัยหลักดันยอดขายโต 150% ในปี 2022 พร้อมแผนบุกตลาดในประเทศไทย

จากจุดเริ่มต้นของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแบตเตอรี่ ในปี 1995 วันนี้ BYD ก้าวไกลสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของจีน โดยในปี 2022 ที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบอีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด รวมกว่า 1.8 ล้านคัน เพิ่ม 150% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ทำได้ 7.2 แสนคัน

 

การขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวนั้น มีปัจจัยมาจากการตอบรับยานยนต์ไฟฟ้าของตลาดทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดย นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนชาวไทยที่เดินทางไปเยี่ยมชม ณ สำนักงานใหญ่เซินเจิ้น ประเทศจีน โดยระบุว่า ปีที่ผ่านมา บีวายดีตัดสินใจนำรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมในประเทศจีนเข้าไปรุกตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับไทย

 

“ยอดผลิตของเราปีที่ผ่านมา ปีเดียวเพิ่มขึ้นมาถึง 3 เท่า แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการเจาะตลาดทั่วโลก พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นอก จากนั้นแล้วการมีโรงงานที่ผลิตตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า ทำให้บีวายดีได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นๆ ในช่วงที่ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ เพราะว่าบีวายดีสามารถที่จะผลิตได้เอง”

นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด

ส่องกลยุทธ์ดันยอดขาย

ยอดขาย-ยอดผลิตที่เติบโต ส่วนหนึ่งมาจากการวางกรอบธุรกิจและกลยุทธ์หลัก ปัจจุบันบีวายดี มีธุรกิจ 4 กลุ่มหลักคือ ยานยนต์, ระบบขนส่งทางราง, พลังงานใหม่ และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นแล้วยังมีกลยุทธ์ 7+4 ที่พร้อมจะรองรับความต้องการของลูกค้าในทุกรูปแบบการเดินทาง-การขนส่ง  โดยภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว 7 หมายถึงกลุ่มรถยนต์นั่ง รถยนต์ทั่วไป รถเพื่อการพาณิชย์ รถโดยสาร ส่วน 4 คือรถยนต์กลุ่มพิเศษ อาทิ รถที่ใช้ในเหมือง ท่าเรือ แวร์เฮาส์ สนามบิน เรียกได้ว่าครบจบที่เดียว

โครงสร้างธุรกิจ BYD

นอกจากกรอบธุรกิจและกลยุทธ์หลักที่วางไว้ การให้ความสำคัญกับศูนย์ออกแบบ หรือโกลบอล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ และกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ที่มีพนักงานมากกว่า 6.9 หมื่นคน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบีวายดี

 

ไม่เพียงเท่านั้นหากใครที่มีโอกาสเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ที่เซินเจิ้น จะได้เห็นกำแพงขนาดใหญ่ที่แปะเอกสารสิทธิบัตรที่บีวายดีได้ขอจดรับรอง ซึ่งว่ากันว่าบีวายดียื่น ขอจดสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีมาก กว่า 4 หมื่นรายการ ได้รับการรับ รองมาแล้ว 2.8 หมื่นรายการ และในจำนวนนี้เป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับรถยนต์-ยานยนต์กว่า 1.2 หมื่นรายการ

กำแพงสิทธิบัตรที BYD ยื่นขอจด

 

บุกตลาดประเทศไทยเต็มสูบ

นายหลิว กล่าวเพิ่มเติมว่า การรุกเข้าไปในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในไทย เป็นสิ่งที่บีวายดีมีการศึกษามานาน และมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค และมีพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดี ประกอบกับนโยบายสนับสนุนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งหมดนี้จึงทำให้บีวายดีตัดสินใจว่าาถึงเวลาแล้วที่บุกตลาดประเทศไทย

 

สำหรับบีวายดี ได้ประกาศลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาแห่งแรกในอาเซียน โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในเขต EEC ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน ซึ่งบีวายดีคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ใน ปี 2567 กำลังการผลิต 1.5 แสนคันต่อปี และรถยนต์จากโรงงานนี้จะป้อนทั้งตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศในแถบอาเซียนและยุโรป

 

 “การเข้ามาในไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างเป็นเรื่องที่วางแผนเอาไว้อย่างแน่นอนแล้ว ดังนั้นการตั้งโรงงานแห่งแรกนอกเหนือจากในประเทศจีนมายังไทย โดยโรงงานตั้งในเขตอีอีซี และเราเชื่อมั่นว่า จะต้องประสบความสำเร็จ” นายหลิว กล่าวสรุป

 

อนึ่ง บีวายดีในประเทศไทยทำตลาดผ่านบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มแนะนำแบรนด์ เปิดตัวรถยนต์รุ่นแรกตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในรุ่น ATTO 3 ปัจจุบันส่งมอบไปมากกว่า 1 หมื่นคัน ล่าสุดในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2023 เปิดให้จอง EV รุ่นใหม่ DOLPHIN ราคา 799,999 บาท เริ่มส่งมอบเดือนกรกฎาคมนี้