เผยผลสำรวจผู้ซื้อรถในอาเซียนยังเทใจให้รถสันดาป EVสะดุดสถานีชาร์จ

23 พ.ค. 2566 | 18:28 น.

ผลสำรวจของดีลอยท์ระบุ คนไทยเลือกรถคันแรกเป็นแบบเครื่องยนต์สันดาป กลุ่มสนใจรถ BEV ยังกังวลปัญหาอันดับ1 คือสถานีชาร์จ

 

ดีลอยท์ เผย ผลสำรวจผู้บริโภค กว่า 26,000 คนจาก 24 ประเทศทั่วโลก ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2565 เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงความสนใจของผู้บริโภคในการยอมรับ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การรับรู้แบรนด์ และเทคโนโลยีขั้นสูง การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมผู้บริโภคในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 6,000 คน ทั้งในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคคนไทยประมาณ 1,000 คน ซึ่งผลสำรวจพบว่า

  • พาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงเป็นทางเลือกหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่คนไทย 31% คิดว่าจะเลือกรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle - BEV) เป็นพาหนะคันต่อไป นับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุผลสำคัญที่สุดของคนไทยและภูมิภาค (สำหรับการเลือกใช้รถยนต์ BEV) คือต้องการลดรายจ่ายด้านราคาเชื้อเพลิง
  • สำหรับผู้ที่เลือกจะใช้ BEV เป็นคันต่อไป ความกังวลเกี่ยวกับสถานีชาร์จสาธารณะเป็นอันดับสูงสุดของคนไทยและภูมิภาค โดยความต้องการสถานีชาร์จที่สร้างเฉพาะสำหรับ BEV เป็นตัวเลือกอันดับ 1

คนไทยรับได้กับการรอชาร์จไฟฟ้ารถระหว่าง 10-60 นาที และคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้งในเป็นระยะทาง 300-500 กิโลเมตร

  • คนไทยรับได้ กับการรอชาร์จไฟฟ้ารถระหว่าง 10-60 นาที และคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้งในเป็นระยะทาง 300-500 กิโลเมตร โดยคนไทยต้องการใช้แอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางในการชำระค่าชาร์จไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาค
  • คนไทยและภูมิภาคระบุว่า อยากได้รถมือหนึ่งเป็นรถคันต่อไป โดยคนไทยจะตัดสินใจเลือกซื้อรถคันต่อไปจากคุณภาพผลิตภัณฑ์ คุณสมบัติของรถ (Features) และภาพลักษณ์ของแบรนด์
  • ดีลเลอร์ยังคงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจมากที่สุด โดยเฉพาะกับรถมือหนึ่ง  ส่วนกลุ่มลูกค้ารถมือสองเลือกศูนย์บริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ด้านราคา และความสะดวกสบาย
  • กลุ่มตัวอย่างลูกค้าคนไทยเปิดใจที่จะอนุญาตให้รถเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่าภูมิภาค โดยคาดหวังประโยชน์ด้านการซ่อมบำรุง การประเมินค่าบำรุงจากนิสัยการขับขี่ และการแนะนำเส้นทางขับที่ปลอดภัย มีคำแนะนำที่เฉพาะสำหรับการลดค่าซ่อม
  • ข้อมูลที่คนไทยยอมรับได้ในการให้รถแลกเปลี่ยนกับการเชื่อมต่อ ได้แก่ ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometric Data) และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ของตัวรถ
  • หากต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อการเชื่อมต่อ คนไทยและคนส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเลือกที่จะจ่ายตามจริงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการจ่ายครั้งเดียว และจ่ายรายเดือน

ทั่วทั้งภูมิภาคระบุตรงกันว่า ต้องการชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านมากที่สุด

ทั้งนี้ ผลการสำรวจภายใต้ชื่อ Deloitte Global Automotive Consumer Study ระบุวาจากรายงาน Global Automotive Consumer Study 2023 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า พาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงเป็นทางเลือกหลักของภูมิภาคนี้ 31% ของคนไทยที่ร่วมตอบแบบสอบถามคิดว่าจะเลือกรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ (BEV) เป็นพาหนะคันต่อไป นับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตของความต้องการรถ BEV สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งภูมิภาคเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปีก่อนหน้า(2565) เหตุผลสำคัญที่สุดของคนไทยและของภูมิภาค คือ

  • ต้องการลดรายจ่ายด้านราคาเชื้อเพลิง
  • และสำหรับคนไทยให้เหตุผลรองลงมาในการตัดสินใจเลือก BEV เพราะต้องการประสบการณ์ในการขับขี่ที่ดีกว่า
  • นอกจากนี้ ยังใช้รถเป็นแหล่งพลังงานสำรองยามฉุกเฉินได้

สำหรับผู้ที่เลือกจะใช้ BEV เป็นคันต่อไป ความกังวลเกี่ยวกับสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะถือเป็น "อันดับสูงสุด" ของคนไทยและภูมิภาคที่ 48% และ 54% ตามลำดับ รองลงมาคือเวลาในการชาร์จ และราคาของรถ BEV ที่จะแพงกว่ารถในระดับเดียวกัน

ทั่วทั้งภูมิภาคระบุตรงกันว่าต้องการชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้านมากที่สุด แต่ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ คนไทยถึง 51% ต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้าที่สร้างเฉพาะสำหรับรถ EV รองลงมาคือการปรับปรุงสถานบริการน้ำมันเดิมให้สามารถรองรับการชาร์จรถไฟฟ้าได้ที่ 26%

โดยคนไทยรับได้กับการรอชาร์จไฟรถระหว่าง 10-60 นาทีถึง 64% และผู้เข้าร่วมการตอบแบบสอบถาม 41% ยังคาดหวังระยะวิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ในระยะทาง 300-500 กิโลเมตรต่อการชาร์จ  โดยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลักที่คนไทยต้องการใช้ในการชำระค่าชาร์จไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาคถึง 67% เทียบกับภูมิภาคที่ 51%

คนไทยสูงถึง 91% ระบุว่าต้องการรถมือหนึ่งเป็นรถคันต่อไป โดยจะตัดสินใจเลือกซื้อรถคันต่อไปจาก...

  • คุณภาพของผลิตภัณฑ์ (64%)
  • คุณสมบัติของรถ (Features) (49%)
  • ภาพลักษณ์ของแบรนด์ 37%

ดีลเลอร์ ยังคงเป็นทางเลือกที่กลุ่มตัวอย่างลูกค้าคนไทยให้ความไว้วางใจมากที่สุด

ดีลเลอร์ ยังคงเป็นทางเลือกที่กลุ่มตัวอย่างลูกค้าให้ความไว้วางใจมากที่สุด

  • โดยเฉพาะกับ รถมือหนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 85% บอกว่าจะเลือกใช้บริการบำรุงรักษารถจากศูนย์บริการมาตรฐาน
  • แต่สำหรับ รถมือสอง ผู้ตอบแบบสอบถาม 45% เลือกใช้บริการศูนย์บริการหลังการขาย ซึ่งตอบโจทย์ด้านราคา และความสะดวกสบาย

กลุ่มตัวอย่างลูกค้าคนไทยเปิดใจที่จะอนุญาตให้รถเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมากที่สุดในภูมิภาค เกือบครึ่งระบุว่าไม่กังวลกับการให้ข้อมูลของรถ โดยคาดหวังประโยชน์ด้านการบำรุงรักษา (85%) การประเมินราคาซ่อมบำรุงจากนิสัยการขับขี่ (84%) และการแนะนำเส้นทางขับที่ปลอดภัย (86%) และคำแนะนำเฉพาะสำหรับแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง (86%) โดยข้อมูลที่คนไทยยอมรับได้ในการให้รถแลกเปลี่ยนกับการเชื่อมต่อ ได้แก่ ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ของตัวรถ หากต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อการเชื่อมต่อ คนไทยและภูมิภาคเลือกที่จะจ่ายตามจริงถึง 49% และ 44% ตามลำดับ การเลือกจ่ายครั้งเดียวรวมกับราคารถ หรือ จ่ายรายเดือนเป็นตัวเลือกในลำดับถัดมา

นายมงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานแยกย่อยออกไปในหลาย ๆ มิติ  มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก ความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคจะเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว

ขณะที่ นายโชดก ปัญญาวรานันท์ Clients & Markets Manager ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ และ ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังจะเปลี่ยนไป

"อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งปัจจัยด้านราคาพลังงาน เทคโนโลยี และความต่อเนื่องของการสนับสนุนจากรัฐ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดต่อไป"นายมงคลกล่าวในที่สุด