ค่ายรถตัดออพชั่น ปรับแผนการผลิตปัญหา "ชิปขาดแคลน"

04 เม.ย. 2565 | 01:59 น.

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิปขาดแคลน ยังเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก หลังเกิดสงครามทางการค้า โควิด-19 และสงครามรัสเซีย ยูเครน ในปี 2565 ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ต้องปรับแผนการผลิตใหม่ หลายรุ่นตัดออพชันเพื่อให้รถทั้งคันผลิตออกมาขายได้

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในภาวะซัพพลายเชนปั่นป่วน "ชิปขาดแคลน" การผลิตและการขายทำได้ไม่เต็มที่จากวิกฤตโควิด-19 แต่ในปี 2564 ยังทำยอดผลิตรถยนต์รวมได้ 1.68 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่งผลให้ไทยขึ้นมาติดอันดับท็อป 10 ของประเทศผู้ผลิตรถยนต์ของโลก หรือขยับตำแหน่งขึ้นมา 1 อันดับแซงทั้ง รัสเซีย และ ฝรั่งเศส

 

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายประเทศ ยอดผลิตรถยนต์ยังไม่กลับมาอยู่ในภาวะปกติอย่างอันดับ 3 ญี่ปุ่น จำนวน 7.84 ล้านคัน ลดลง 3% ขณะที่เยอรมนี 3.3 ล้านคัน สเปน 2.09 ล้านคัน ลดลง 12% และ 8% ตามลำดับ

ค่ายรถตัดออพชั่น ปรับแผนการผลิตปัญหา "ชิปขาดแคลน"

สำหรับประเทศไทยยอดผลิต 1.68 ล้านคัน แบ่งเป็นการขายในประเทศ 7.29 แสนคัน และส่งออก 9.56 แสนคัน และในปี 2565 คาดว่า ยอดผลิตรถยนต์รวมจะทำได้ถึง 1.8 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกถึง 1 ล้านคัน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายกับการตั้งเป้าหมายดังกล่าว ที่ยังต้องเผชิญ ทั้งปัญหา "ชิปขาดแคลน" การขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ราคานํ้ามันพุ่ง, เงินเฟ้อ และหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น

 

ในส่วนปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิปขาดแคลน” ปีนี้ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย จากสาเหตุเดิมๆ คือ การทำสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกากับจีน จึงเกิดการจำกัดปริมาณการขาย “ชิป” ให้บริษัทของอีกฝั่งขณะเดียวกันช่วงโควิด-19 ทำให้สินค้าไอที ทั้งอุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งล้วนมี “ชิป” เป็นชิ้นส่วนสำคัญ มีความต้องการสูงขึ้น

ขณะที่ปี 2565 ปัญหา "ชิปขาดแคลน" ยังถูกซ้ำด้วยต้นทุนวัตถุดิบอย่าง แร่ หรือ โลหะมีค่า ราคาสูงขึ้น ตลอดจนปัญหาสงครามรัสเซีย ยูเครน ยิ่งเข้ามาโถมซํ้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องปรับแผนงานอย่างหนัก

 

ที่ผ่านมา "ชิปขาดแคลน" ทำให้ค่ายรถยนต์ในไทยที่ทำตลาดทั้งรูปแบบนำเข้า และ ประกอบในประเทศ บางรุ่นเปิดตัวช้ากว่ากำหนด หลายรุ่นเปิดตัวแล้ว แต่ต้องรอรถนานหลายเดือนไปจนถึงเกิน 1 ปี

 

ในกลุ่มรถหรูอย่างเมอร์เซเดส- เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู วอลโว่ อาวดี้ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยค่ายแรก ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนมีผลกับชิ้นส่วนสำคัญของรถ เช่น ชุดไฟหน้า Multibeam LED, Wireless Charger และฟังก์ชัน Hands Free access

 

ขณะที่ บีเอ็มดับเบิลยู ต้องตัดฟังก์ชันบางอย่างในกลุ่มรถปลั๊ก-อินไฮบริด ที่ประกอบในเมืองไทย เช่น กล้อง 360 องศา, Wireless Charger, Comfort Access เป็นต้น

 

ส่วนวอลโว่ ที่นำเข้า EV จากจีนรุ่นล่าสุดคือ Volvo C40 Recharge Pure Electric ประกาศปรับราคาลดลงจาก 2.75 ล้านบาท เป็น 2.69 ล้านบาท จากการตัดออพชันไฟหน้า Pixel LED ออกไป โดยรถจะเริ่มทยอยส่งมอบตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

 

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุลนายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนชิป และการถูกปรับราคาขึ้นของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนปัญหาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

 

“นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบภายในประเทศ ได้แก่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคานํ้ามันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก อัตราเงิน เฟ้อเพิ่มขึ้นและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังการซื้อของประชาชนที่ลดลง แต่สมาคมฯ คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 9 หมื่นคัน จากปี 2564” นายสุวัชร์ กล่าวสรุป