นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า EV เทียบไทย VS ต่างชาติ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

25 ก.พ. 2565 | 20:00 น.

เงื่อนไข 'รถอีวี - รถยนต์ไฟฟ้า' ในไทย เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เทียบนโยบายของต่างประเทศ อยากให้คนใช้รถ EV ต้องสนับสนุนมากกว่าให้เงินอุดหนุน

26 ก.พ.2565 - เจาะลึก มาตรการสนับสนุนยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV ของไทยล่าสุด โดย ดร. กติกา ทิพยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลใช้เงินอุดหนุนน ส่วนลด ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท และให้บริษัทรถยนต์ที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพสามิต ไปจัดทำโปรโมชันส่งเสริมการขายเองนั้น ถือเป็นเครื่องมือได้ถูกจุดระดับหนึ่ง เพราะการสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุด คือเรื่องของราคา ทั้งเงินอุดหนุนให้กับผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และการลดภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้า 

อย่างไรก็ตาม นี่ยังถือเป็นนโยบายที่สนับสนุนการซื้อในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ มากกว่าการใช้งานในระยะยาว โดยมาตรการรอบนี้จะมีอายุถึงปี 2568 เท่านั้น หากรัฐบาลต้องการสร้างดีมานด์ในประเทศเพื่อให้เกิดการผลิตมากขึ้นในอนาคต อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเกิดการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงประชาชนที่ซื้อรถยนต์ใหม่ไปเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาแล้วกว่า 7.5 แสนคัน กว่าจะถึงเวลาที่คนเหล่านี้ตัดสินใจซื้อรถคันใหม่อีกครั้งก็อาจหมดอายุมาตรการไปแล้ว 

นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า EV  เทียบไทย VS ต่างชาติ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

เทียบมาตรการสนับสนุนใช้รถ EV ไทย VS ต่างประเทศ 

สำหรับการสนับสนุนการใช้รถ EV ในต่างประเทศ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับสิทธิพิเศษที่ผู้ใช้รถ EV จะได้รับตลอดการใช้งาน ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนลดเมื่อซื้อครั้งแรกเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีผู้ใช้รถ EV มากที่สุดในโลกขณะนี้ คือ ประเทศนอร์เวย์ 

 

นอร์เวย์ลดภาษีซื้อรถ - ลดค่าที่จอด

ได้มีการวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 1970 และสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% มาตั้งแต่ 1990 ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลกถึง 87% ของรถยนต์ทั้งประเทศ โดยมีนโยบายส่งเสริมตั้งแต่การลดภาษีการซื้อรถ ภาษีป้ายทะเบียน ภาษีรถยนต์ประจำปี ลดค่าที่จอดรถในที่สาธารณะ และสามารถใช้ถนนเลนเดียวกับรถสาธารณะ 

นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า EV  เทียบไทย VS ต่างชาติ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ประเทศเยอรมนี ยกเว้นภาษี 5-10ปี 

ประเทศเยอรมนีในฐานะผู้นำข้อตกลง EU Green Deal ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษียานยนต์เป็นเวลา 5-10 ปี และสนับสนุนเงินชดเชย 8,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงสิทธิพิเศษ อาทิ ไม่เสียค่าที่จอดรถ หรือมีสิทธิเข้าบางพื้นที่ที่เปิดให้เฉพาะรถ EV ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2020 ให้เงินอุดหนุนสูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นให้คนซื้อรถ EV กับบริษัทขนาดเล็กและกลาง แต่สำหรับค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น GM และ Tesla ไม่ได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมียอดขายเกินกว่าโควต้าที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดไว้ 

 

ญี่ปุ่น 

ขณะที่ฝั่งเอเชีย เจ้าแห่งการผลิตยานยนต์อย่างญี่ปุ่น มีทั้งการให้เงินสนับสนุนคนซื้อรถ ลดและยกเว้นภาษี ด้านกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมได้เน้นการส่งเสริมให้ค่ายรถยนต์วิจัยพัฒนาระบบขับเคลื่อนและแบตเตอรี่ให้ดียิ่งขึ้น 

 

ประเทศจีน 

แม้จีนอาจให้เงินอุดหนุนไม่มากนักระหว่าง 1,800-4,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มีการสนับสนุนด้านอื่นแตกต่างกันไปตามมณฑล อาทิ ลดค่าที่จอด ลดค่าชาร์จไฟในที่ชาร์จสาธารณะ และฟรีค่าผ่านทาง ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีบริบทที่แตกต่างออกไป การจอดรถตามท้องถนนสามารถจอดได้ฟรีอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่จอดรถที่เสียค่าจอดมักเป็นของภาคเอกชน 

 

ดังนั้นควรมีการร่วมมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ให้มีการลดค่าจอดหรือค่าชาร์จไฟ หรือแม้แต่การพิจารณาให้รถ EV สามารถใช้ทางด่วนได้ฟรี ก็เป็นการส่งเสริมที่เหมาะกับบริบทกรุงเทพมหานครที่คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชานเมืองและเดินทางเข้ามาทำงานระหว่างวัน รวมถึงควรขยายจุดชาร์จสาธารณะให้ไม่กระจุกตัวอยู่ภายในพื้นที่กรุงเทพชั้นในเท่านั้น

นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า EV  เทียบไทย VS ต่างชาติ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จุฬาฯ เสนอรัฐผลักดันการผลิตรถอีวีใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ ในระยะยาวเพื่อให้ยอดการใช้รถ EV  ถึงเป้าหมายตามโรดแมพการพัฒนาวงการ EV ของรัฐบาลไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผน30@30 ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ที่จะสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกและภาคีกว่า 40 ประเทศหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2030 อ.ดร.กติกา เสนอให้ภาครัฐผลักดันการผลิตรถ EV ใช้ภายในประเทศ แม้จะไม่สามารถผลิตเพื่อส่งออกแข่งกับแบรนด์ใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดได้

 

แต่ภาครัฐสามารถกำหนดให้รถในหน่วยงานราชการหรือรถขนส่งสาธารณะเป็นรถ EV สัญชาติไทย ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มจากตรงนี้ อาทิ เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่ง VinFast จากเวียดนาม ก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและได้เริ่มทำการตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะนี้

 

ประโยชน์ของรถยนต์ไฟฟ้า 

อ.ดร.กติกา ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในทางเศรษฐศาสตร์ที่อาจเกิดสภาวะที่เรียกว่า “ผลกระทบย้อนกลับ” (Rebound effect)  เมื่อประชาชนรู้สึกสบายใจกับการใช้รถ EV ที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำมันราคาแพงอีกต่อไป ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าต่อหน่วยเมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางวิ่งที่ลดลง และไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้รถอาจใช้งานเกินความจำเป็น

 

ต้องอย่าลืมว่าการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ผลรวมของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศมากขึ้นก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน และยังมีผลกระทบที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ เช่น รถติดมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น หรือความพยายามผลักดันให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะอาจเป็นไปได้น้อยลง จึงควรมีแผนระยะกลางและยาวรองรับการใช้งานอย่างแพร่หลายของรถ EV ด้วย