ประธานโตโยต้า ยืนยันจ่ายค่าทนาย 576 ล้านบาท คดีสินบนพริอุส

09 ก.ย. 2564 | 09:14 น.

โนริอากิ ยามาชิตะ ประธาน โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เข้าชี้แจง กมธ.สภาผู้แทนราษฎร ในคดีสินบนภาษีโตโยต้า พริอุส ว่าในช่วงนั้นบริษัทฯ ได้จ่ายเงินให้สำนักงานกฎหมายจริง เป็นจำนวนเงิน 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 576 ล้านบาท (คำนวณค่าเงินปัจจุบัน 32 บาท/ดอลลาร์)

จากข่าวดังระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยช่วงต้นปี 2564 ในคดีภาษีโตโยต้า พริอุส ที่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน (ทีเอ็มซี) ได้รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DOJ) ว่า มีความเป็นไปได้ที่ บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทยอาจกระทำการละเมิด กฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ โดยเว็บไซต์ Law360  เปิดเผยว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับบริษัทสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง เพื่อติดสินบนศาลในกรณีข้อพิพาทภาษีโตโยต้า พริอุส ที่มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐประมาณ 11,000 ล้านบาท  

 

ทั้งนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี (กรมศุลกากร-กรมสรรพกร) ตั้งแต่ปี  2556 จากการสำแดงภาษีโตโยต้า พริอุส ไม่ถูกต้อง ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 11,000 ล้านบาท

โนริอากิ ยามาชิตะ

ล่าสุด โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมทีมงานกฎหมายได้เข้าชี้แจงกับ คณะกรรมาธิการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ว่า ในช่วงนั้นบริษัทได้จ่ายเงินค่าจ้างสำนักงานกฎหมายเพื่อทำคดีนี้เป็นเงิน 18 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 576 ล้านบาท คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

 

สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวว่านายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยว่า กมธ.ได้สอบถามนายโนริอากิ ยามาชิตะ ถึงการที่โตโยต้าได้จ่ายเงินค่าจ้างสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ไปแล้ว 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จริงหรือไม่? ซึ่งกรรมการผู้จัดการใหญ่โตโยต้า ตอบว่า “จริง” สอดรับกับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ 

นายยามาชิตะ ยังระบุว่า ผู้บริหารโตโยต้าที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ปัจจุบันได้ลาออกจากการทำงานกับบริษัทไปหมดแล้ว ขณะที่ตนเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 

 

ปัจจุบัน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (ทีเอ็มที) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง และอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกาว่าจะรับพิจารณาคดีหรือไม่ หลังแพ้มาจากศาลอุทธรณ์ และเคยออกแถลงการณ์ว่า โตโยต้าดำเนินการอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรม และความเป็นมืออาชีพอย่างสูงสุด

 

“เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับทุกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และมุ่งมั่นที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของเราเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกประการ โตโยต้าได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเนื่องด้วยณขณะนี้กระบวนการตรวจสอบอยู่ระหว่างการดำเนินการ เราจึงจะไม่สามารถให้ความเห็นใดๆได้” แถลงการณ์ ทีเอ็มที ระบุ

ที่มา สำนักข่าวอิศรา