"ดร.ยศพงษ์​ ลออนวล" ภารกิจใหม่ขับเคลื่อน EV ในไทย

06 ส.ค. 2563 | 10:55 น.

ดร.ยศพงษ์​ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ( EVAT ) คนแรก ภายใต้การประสานงาน 10 ทิศ กับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ซึ่ง 5 ปีของการดำรงตำแหน่ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ พร้อมได้การยอมรับจากสมาชิกของสมาคม

วันนี้ ดร.ยศพงษ์​ ลออนวล พร้อมส่งไม้ต่อตำแหน่งนายกสมาคม EVAT ให้แก่ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่เดิมดำรงตำแหน่งอุปนายก EVAT ส่วนตัว ดร.ยศพงษ์​ จะกลับไปพัฒนาโครงการใหม่ๆ ของต้นสังกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ดร.ยศพงษ์​ ยังเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า ในคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่า การพ้นจากตำแหน่งนายกสมาคม EVAT แทบจะไม่ได้ลดบทบาทการเป็นขุนพลสำคัญของวงการยานยนต์ไฟฟ้าไทย ท่านนี้เลย

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล

“ระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ยังรอท่านรองนายกฯ และ รมต.พลังงาน (คนใหม่ที่จะมาสานงานต่อจากชุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) อนุกรรมาธิการชุดนี้ จะต้องศึกษาแผนงานเพื่อผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าในมิติต่างๆ และเตรียมทำข้อเสนอรอไว้ให้ท่านเลย” ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนของ มจธ. กล่าว พร้อมเล่าให้ฟังถึงบทบาทใหม่ ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ MOVE (มูฟ)

“พันธกิจของ MOVE คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เเละนวัตกรรมด้านยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ รวมไปถึงการพัฒนาเเละสร้างห้องปฎิบัติการวิจัยที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด “การขนส่งแบบไร้มลพิษ เพื่อก้าวไปสู่การเดินทางที่ยั่งยืน โดยการใช้ มจธ. เป็นสนามทดสอบ (Test Bed) และแหล่งเรียนรู้และวิจัยในวิถีชีวิต (Living Lab) ซึ่งในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยนี้ มีการดำเนินงานร่วมเป็นพันธมิตร ทั้งกับภาครัฐเเละภาคเอกชนหลายภาคส่วน”

“การสิ้นสุดตำแหน่งนายก EVAT ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดการทำงาน เพราะเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เป็นแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่ที่ผมทำมากว่า 10 ปี แล้ว หรือก่อนจะเกิดสมาคมหรือมีตำแหน่งใดๆ ดังนั้น ผมยังทำงานในเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่องแน่นอน ขณะเดียวกัน ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุติ ในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หวังจะช่วยผลักดันให้เกิดการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ได้อย่างต่อเนื่อง” ดร.ยศพงษ์ กล่าวทิ้งทาย

ที่ผ่านมา EVAT เข้าไปมีส่วนร่วมกับหลายภาคส่วนในการผลักดันโครงการและกิจกรรม อาทิ การสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ การทำงานในเชิงวิชาการในเรื่องมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า หรือหลักสูตรในสถาบันการศึกษา การให้ความรู้แก่ประชาชน

ทั้งยัง จัดทำ 8 ข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อภาครัฐในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ การ จัดทำ EV Roadmap ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า เเละชิ้นส่วน ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมศักยภาพเเละพัฒนาบุคลากรไทย ด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ประกันรถใกล้หมด คลิกเลย