“ออโต ซาลอน” ยกเลิกจัดงาน อีเวนต์ขายรถ ลุ้นปลดล็อกเฟส 4

05 มิ.ย. 2563 | 04:35 น.

อีเวนต์ขายรถ ลุ้นรัฐบาลคลายล็อกดาวน์เฟส 4 โดยผู้จัดงานหวังปลุกตลาด สร้างบรรยากาศซื้อ-ขายให้กลับมาคึกคัก ส่วน “มอเตอร์เอ็กซ์โป” ปลายปี ยืนยันค่ายรถยังตอบรับเหนียวแน่น ด้าน “ออโต ซาลอน” ยกเลิกการจัดปีนี้แล้ว

อีเวนต์ยานยนต์สเกลใหญ่ระดับประเทศ ปูพรมระดมจัดงานกันทุกไตรมาส ไล่ตั้งแต่เดือนมีนาคม กับงาน “บางกอก มอเตอร์โชว์” โดยค่ายกรังด์ปรีซ์ ส่วนกลางปีมี 2 งานคือ “บางกอก ออโต ซาลอน” ของ คอร์โนแอนด์เนช ในเครือ สยามสปอร์ต และ “ฟาสต์ ออโต โชว์” นำโดย พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ และพันธมิตร จากนั้นไตรมาส 3 เป็นคิว “บิ๊ก มอเตอร์ เซล” ของจรวย ขัญมณี แห่งยานยนต์สแควร์ ก่อนปิดท้ายปลายปีด้วย “มอเตอร์เอ็กซ์โป” โดยบริษัทสื่อสากล

ปีนี้ อีเวนต์ยานยนต์โดนผลกระทบจากโควิด-19 เต็มๆ จากการใช้ พรก.ฉุกเฉิน และมาตรการเคอร์ฟิว โดยจำกัดการเดินทาง ห้ามทำกิจการและกิจกรรมต่างๆ สั่งหยุดการจัดงานมีผู้คนมาชุมนุมกันจำนวนมาก ในส่วนงานใหญ่อย่าง “บางกอก มอเตอร์โชว์” ต้องเลื่อนจัดงานมาแล้ว 3 ครั้ง จากเดิมเดือนมีนาคม ไปเป็น 13-26 กรกฎาคม 2563 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ส่วนงาน "ออโต ซาลอน" ที่เน้นรถแต่งอุปกรณ์โมดิฟายด์ ได้ลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น มีกำหนดจัด 24-28 มิถุนายนนี้ ที่เมืองทองธานี  ยกเลิกการจัดงาน ไปเรียบร้อยแล้ว

“ออโต ซาลอน” ยกเลิกจัดงาน อีเวนต์ขายรถ ลุ้นปลดล็อกเฟส 4

ที่ผ่านมา บางกอก ออโต ซาลอน ค่อยๆลดสเกลงานลงมาเรื่อยๆ จากการจัดงานครั้งแรก (ปี 2555) ทั้งจำนวนวัน และพื้นที่จัดงาน ล่าสุดใช้พื้นที่ชาเลนเจอร์ เพียง 1 ฮอลล์ โดยปีที่แล้ว เพิ่งจะวางตัวเป็นงานขายรถอย่างเป็นทางการ (แนวคิดเดิมจากญี่ปุ่นคือการโชว์รถแต่งจากสำนักต่างๆ ขายอุปกรณ์โมดิฟายด์) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ค่ายรถที่เสียเงินเข้ามาออกบูธมีรายได้

สำหรับปีนี้ เมื่อพิจารณาความพร้อมในหลายๆ มิติ ทั้ง มาตรการล็อกดาวน์ การตอบรับของค่ายรถที่เข้าร่วมงาน และรถยนต์แต่งที่เป็นไฮไลต์ต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่น มีปัญหาเรื่องการขนส่ง และการเดินทางของทีมงาน บางกอก ออโต ซาลอน   จึงต้องยกเลิกการจัดงาน ในที่สุด

ล่าสุด การคลายมาตรการล็อกดาวน์ เฟส 3 ของ ศบค. มีผลตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา อนุญาตให้กิจกรรม กิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ตามแผนควบคุม ส่วนการจัดงานนิทรรศการและงานแสดงสินค้า ยังจำกัดพื้นที่ไม่เกิน 2 หมื่นตารางเมตร ห้ามผู้ชมเกิน 5,000 คน (จำกัดการเข้าร่วมในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ตรม./คน) และเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม

เมื่อพิจารณามาตรการผ่อนคลายเฟส 3 ชัดเจนว่าอีเวนต์ยานยนต์ใหญ่ๆอย่างบางกอก มอเตอร์โชว์,บิ๊กมอเตอร์เซล และมอเตอร์ เอ็กซ์โป ไม่สามารถจัดงานได้แน่ๆ เพราะเหล่านี้ใช้พื้นที่จัดงานระดับ 5 หมื่น-1 แสนตารางเมตร ด้วยกันทั้งนั้น (รวมนอกฮอลล์)

ดังนั้น บางกอก มอเตอร์โชว์ ที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม ต้องลุ้นว่าการคลายล็อกดาวน์ เฟส 4 ที่คาดว่าจะประกาศกลางเดือนมิถุนายนนี้ จะปลดเงื่อนไขหรือผ่อนผันขยับขยายได้เพียงใด และถ้าสุดวิสัยจริงๆ ผู้จัด “กรังด์ปรีซ์” ยินดียกเลิกงานในปีนี้ รอไปจัดตามกำหนดเดิมในปี 2564 แทน ล่าสุดมีบางค่ายรถยนต์ขอยกเลิกในการร่วมงานปีนี้แล้ว

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรังด์ปรีซ์ เปิดเผยว่า เมื่อดูจากสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสต่อวันที่ลดลง ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์ให้บางธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง บริษัทได้ติดตามสถานการณ์และหากรัฐบาลอนุญาตให้เริ่มดำเนินการจัดงานแสดงสินค้าได้ บริษัทพร้อมจะเดินหน้าจัดงานบางกอก มอเตอร์โชว์ โดยมีมาตรการตรวจคัดกรองผู้เข้าชมและมาตรการด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวดเพื่อให้ความมั่นใจแก่ทุกฝ่าย

ขณะที่บริษัท ยานยนต์สแควร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดงาน บิ๊กมอเตอร์เซล ยืนยันกำหนดเวลาจัดงานตามเดิมที่ ไบเทค บางนา แต่หากมีคำสั่งตาม พรก.ฉุกเฉิน หรือจากศบค. ทำให้ไม่สามารถจัดงานได้ บริษัทจะแจ้งยกเลิกการจัดงานในปีนี้อย่างเป็นทางการ พร้อมส่งมอบเงินค่าดำเนินการต่างๆ กลับคืนเต็มตามจำนวนที่ได้รับมาแล้วแก่ผู้เข้าร่วมแสดงงานในทันทีโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ

นายชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ รองประธานจัดงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป เปิดเผยว่า “ฐานเศรษฐกิจ”ว่างานมอเตอร์เอ็กซ์โป ยังมีเวลาอีกนานในการเตรียม ความพร้อม และรอดูสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการประกาศมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 4 กลางเดือนมิถุนายนนี้ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ยังไม่มีรายใดแจ้งถอนตัวออกจากงาน

“งานเรายังอีกนาน(ต้นเดือนธันวาคม) ตอนนี้ยังไม่มีใครแจ้งเปลี่ยนแปลงแผนเข้าร่วมงาน ซึ่งทุกบริษัทหวังว่า มอเตอร์เอ็กซ์โปจะจัดได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยฟื้นตลาดรถยนต์ไทย” นายชลัทชัย กล่าว 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563