14 เมษายน เกาหลีฉลอง “Black Day” วันคนโสด คนไม่มีแฟน มารวมตัวตรงนี้! 

13 เม.ย. 2567 | 17:05 น.

14 เมษายน ในประเทศไทยคือ “วันครอบครัว” แต่สำหรับคนโสดในเกาหลีใต้ 14 เม.ย.ของทุกปี คือวัน Black Day (แบล๊คเดย์) นี่คือวันสุดท้ายในซีรีส์วันเกี่ยวกับความรักของชาวเกาหลีที่มีอยู่สามวันในแต่ละปี เรื่องนี้มีที่มาน่าสนใจ และมีการฉลองกันทั้งประเทศ

14 เมษายน เป็น วันสำหรับคนโสด หรือคนที่ยังไม่มีแฟน ใน เกาหลีใต้ เรียกกันว่า Black Day เพื่อให้แตกต่าง หรือตรงกันข้ามกับวัน White Day ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม สองวันนี้จึงเหมือนสองขั้วตรงกันข้าม คือ “ดำ” กับ “ขาว” คนไร้ความรัก กับ คนมีความรัก ก่อนจะมาทำความรู้จักวัน Black Day เราจึงต้องมารู้จักวัน White Day เพื่อที่จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ในเกาหลีใต้มีการฉลองวันเกี่ยวกับความรักสามวันในแต่ละปี คือ 14 กุมภาพันธ์ อันนี้ทุกคนรู้จักดีว่าคือ วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) หรือ วันแห่งความรัก คนที่มีแฟนหรือมีความรักก็จะเฉลิมฉลองกันทั่วโลก ไม่เฉพาะที่เกาหลีใต้ สาวๆคนไหนที่อยากบอกรัก บอกความในใจกับหนุ่มๆที่หมายตาไว้ ก็มักจะให้ช็อกโกแลต ขนม หรือดอกไม้ สื่อแทนความรักที่อัดอั้นอยู่ในใจ

หลังจากนั้น 1 เดือน คือ 14 มีนาคม ก็มาถึงวัน White Day เป็นธรรมเนียมที่หนุ่มๆ ที่ได้ของขวัญจากสาวๆในวันวาเลนไทน์ จะให้ของขวัญตอบแทนแก่ฝ่ายหญิง ในญี่ปุ่นก็มีธรรมเนียมนี้เช่นกัน เรียกว่า “ซัมไบกาเอชิ” (三倍返し) ซึ่งโดยปกติ ราคาของที่ให้ตอบแทนแก่หญิงสาว จะแพงกว่าของที่หนุ่มๆได้รับมาสามเท่า ซึ่งอาจจะเป็นขนม ดอกไม้ หรือเครื่องประดับ เพื่อตอบรับความรักของพวกเธอ และแสดงให้เห็นว่า พวกเธอมีความหมายต่อพวกเขาแค่ไหน

ใน เกาหลีใต้ ก็มีธรรมเนียมนี้เช่นกัน หลายคนบอกว่ามันฮิตขึ้นมาได้เพราะนักการตลาดอยากให้มีวันแบบนี้ เพื่อที่ผู้คนจะซื้อของขวัญมอบให้กันและกัน วัน White Day จึงเป็นวันที่ชายหนุ่มซื้อของ ตอบแทนความรักที่พวกเขาได้รับมาจากหญิงสาวในวันวาเลนไทน์

แล้วพวกคนที่ไม่มีแฟนหละ พวกคนโสดจะทำยังไง? วัน Black Day จึงเป็นคำตอบ!

14 เมษายน เหล่าคนโสดในเกาหลีใต้ ไม่ต้องเดียวดาย พวกเธอและพวกเขา จะแต่งกายด้วยชุดดำ มาร่วมกิจกรรมสังสรรค์กัน นอกจากจะเป็นโอกาสให้คนโสดได้มาเจอคนโสดด้วยกัน เพื่อที่ปีหน้าพวกเขาอาจจะไม่ต้องร้องเพลง “คนไม่มีแฟน” หรือ “โปรดส่งใครมารักฉันที” อีกต่อไป

14 เมษายน เหล่าคนโสดในเกาหลีใต้ ไม่ต้องเดียวดาย พวกเขาแต่งกายด้วยชุดดำ ออกมากินบะหมี่ซอสดำ

การเฉลิมฉลองนี้ ยังมีธรรมเนียมที่ช่วยประชาสัมพันธ์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของเกาหลีใต้ นั่นก็คือ เหล่าคนโสดจะมารวมตัวกันกิน “จาจังเมียน” หรือ “จาจังมยอน”  (Jjajangmyeon) เมนูบะหมี่ผัดซอสดำเข้มข้น เส้นหนึบ ผัดกับหมูสามชั้น หัวหอมใหญ่ หัวไชเท้า และมันฝรั่ง (ถ้านึกไม่ออก เราขอใบ้ว่านี่คือเมนูที่นางเอกในซีรีส์ Coffee Prince ชอบกินให้เห็นในหลายฉากจนสร้างกระแสเมนูยอดฮิตที่มีคนร้องอยากกินตามมากที่สุดในยุคนั้น) ด้วยความที่สีดำของซอสบะหมี่จาจังเมียน มันช่างเข้ากับคอนเซ็ปท์ของวัน Black Day นั่นเอง

จาจังเมียน หรือ จาจังมยอน คืออาหารประเภท comfort food กินแล้วให้ความรู้สึกสบายอกสบายใจ

นอกจากนี้ คนเกาหลียังเห็นว่า จาจังเมียน คืออาหารประเภทคอมฟอร์ทฟู้ด (comfort food) ที่กินแล้วช่างให้ความรู้สึกสบายอกสบายใจ ถ้าวันนั้นรู้สึกแย่ๆ ได้กินจาจังเมียนแล้วจะรู้สึกดี เหมือนได้รับการปลอบประโลมจิตใจให้อารมณ์ดีขึ้น จึงเหมาะที่จะใช้ปรับอารมณ์เหล่าคนโสด ให้รู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้น ไม่ต้องรู้สึกแย่ๆกับตัวเอง แม้ข้างกายจะไม่มีใครก็ตามที

บางบริษัท บางร้านอาหาร จัดกิจกรรมให้คนโสดมาแข่งขันกินบะหมี่จาจังเมียนในวัน Black Day ด้วย  

นอกจากบะหมี่ผัดซอสดำจาจังเมียนแล้ว “กาแฟดำ” ก็ยังเป็นอีกเมนูยอดฮิตในวัน Black Day ของคนโสดเกาหลี ด้วยเหตุผลของการมีสีดำๆ เข้ากับชื่อวันเช่นกัน (ถ้าเป็นเมืองไทย สปอนเซอร์เฉาก๊วย กับ ไข่เยี่ยวม้า ต้องเข้าแล้วหละ)

กาแฟดำ เป็นอีกเมนูยอดฮิตในวัน Black Day ของคนโสดเกาหลีใต้

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า แรกเริ่มเดิมที วัน Black Day เป็นวันโทนเศร้า จึงใช้ black หรือ “สีดำ” สื่อถึงชื่อวัน ประมาณว่าเป็นวันรวมตัวของคนไม่มีแฟน คนเดียวดาย มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความเศร้าเหงา โลกนี้เป็นสีดำ พวกเขามากินบะหมี่จาจังเมียนด้วยกันเพื่อให้รสชาติของอาหารอร่อยลบเลือนความทุกข์ออกไปจากใจ

แต่ต่อมา เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การมีแฟนหรือไม่มีแฟนไม่ใช่เรื่องใหญ่ วัน Black Day จึงเปลี่ยนบทบาทกลายมาเป็นวันรวมตัวกันเพื่อฉลองความโสดซะมากกว่า

และเนื่องจาก Black Day เป็นวันของคนโสด วันนี้จึงไม่มีการให้ของขวัญกันและกัน กิจกรรมการตลาดจะเน้นไปในการเชิญชวนคนโสดให้จ่ายเงินซื้อของขวัญให้ตัวเอง เจ้าของสินค้าก็จัดกิจกรรมการตลาดพุ่งเป้าไปที่คนโสด เช่น ลดราคาค่าตั๋วดูหนังให้คนที่มาดูคนเดียว หรือลดค่าอาหารให้สำหรับลูกค้าที่มาคนเดียว เป็นต้น   

 

ข้อมูลอ้างอิง