ไขข้อสงสัย "อั่งเปา" กับ "แต๊ะเอีย" ต่างกันอย่างไร ?

05 ก.พ. 2567 | 06:05 น.

วันตรุษจีน 2567 คลายข้อสงสัย "อั่งเปา" กับ "แต๊ะเอีย" ต่างกันอย่างไร นิยมแจก "อั่งเปา" กันวันไหนและใครที่ต้องให้ "อั่งเปา" พร้อมความเชื่อทำไมชาวจีนนิยมให้อั่งเปากันในวันตรุษจีน

วันตรุษจีน 2567 ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนจะมีการให้ "อั่งเปาซองแดง" เพื่อแทนคำอวยพร และสื่อความหมายดี ๆ  ตลอดจนแสดงถึงความกตัญญู อย่างไรก็ดี นอกจากเราจะได้ยินคำว่า "อั่งเปา" กันจนชินหูแล้ว อีกคำที่ได้ยินบ่อย ๆ เช่นกัน คือ คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งอาจทำให้

หลายคนจึงอาจเกิดความสงสัยกันว่า แล้ว "อั่งเปา" กับ "แต๊ะเอีย" ต่างกันอย่างไร? 

"อั่งเปา" เป็นการออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว แต่หากออกเสียงตามภาษาจีนกลางจะอ่านว่า "หงเปา" ซึ่งหมายถึง ซองแดงสำหรับใส่เงิน มอบให้เป็นของขวัญมงคลแทนความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน

"แต๊ะเอีย" หมายถึง เงินหรือของที่อยู่ภายในซอง คำว่า "แต๊ะ" ในภาษาจีน แปลว่า ทับหรือกด และ "เอีย" ในภาษาจีนแปลว่า เอว เมื่อรวมกันจะแปลว่าของที่ถูกกดหรือทับเอว

สมัยก่อนเหรียญของชาวจีนเป็นวงกลม มีรูตรงกลาง เวลาเก็บจึงมักร้อยด้วยเชือกแล้วเอามาคาดเอว พกไว้กับตัว ดังนั้น แต๊ะเอีย หมายถึง เงินหรือของที่อยู่ด้านในซอง

ทําไมนิยมให้ อั่งเปา ในวันตรุษจีน

วันตรุษจีน ถือว่าเป็นวันปีใหม่จีน เป็นเทศกาลแห่งความมงคล ดังนั้น จึงนิยมให้อั่งเปาแก่กันแทนความรู้สึกดี ๆ ความห่วงใย แทนคำอวยพร ให้ผู้คนที่รัก ผู้ใหญ่ หรือลูกหลาน การงานก้าวหน้า อายุยืนยาว ปราศจากโรคภัย และเริ่มต้นปีใหม่อย่างมีความสุข ตลอดจนแสดงถึงความกตัญญูในวัฒนธรรมจีนด้วย

การมอบอั่งเปาให้กัน ถือเป็นกิจกรรมที่แสนพิเศษและอบอุ่นในวันตรุษจีน สำหรับลูกหลานหรือใครที่เข้าสู่วัยทำงาน อาจมอบอั่งเปาให้พ่อแม่แทน เนื่องจากเป็นการแสดงความกตัญญูและอวยพรให้ท่านอายุยืนยาวในวันตรุษจีน

อั่งเปาให้วันไหน

วันให้อั่งเปา 2567 นิยมจะให้ในเทศกาลตรุษจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากซองอั่งเปาเปรียบเสมือนของขวัญในวันมงคล ดังนั้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติซองอั่งเปาควรให้ในกรณีที่มีงานมงคลหรือวันสำคัญ เช่น วันเปิดกิจการใหม่ วันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น

ใครต้องให้อั่งเปา?

ตามธรรมเนียมปฏิบัติไม่มีข้อกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับครอบครัวของแต่ละคน ตามธรรมเนียมปฏิบัติผู้อาวุโสจะมอบให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือลูกหลานที่ทำงานแล้วก็สามารถมอบอั่งเปาให้กับผู้อาวุโสกว่าหรือคนในครอบครัวได้ซึ่งสื่อถึงความกตัญญูได้เช่นกัน