สงกรานต์ 2566 กับ การ "ก่อเจดีย์ทราย" ที่เกือบเลือนหายไปในปัจจุบัน

06 เม.ย. 2566 | 22:43 น.

สงกรานต์ 2566 กับ ประเพณีที่กำลังจะเลือนหาย "ก่อเจดีย์ทราย" ขนทรายเข้าวัด ทำความรู้จักให้มากขึ้น กับประเพณีที่เป็นกุศโลบายทางพระพุทธศาสนา พร้อมอานิสงส์จากการก่อเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด

สงกรานต์ 2566 ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ 13 - 14 เมษายน 2566 สิ่งที่ผู้คนนิยมทำในวันสงกรานต์นั้น มีทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อกลับไปรดน้ำดำหัว พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องได้กลับมารวมตัวกัน ได้พบปะสังสรรค์ ตลอดจนการเข้าวัด ทำบุญ การขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย และการละเล่นสาดน้ำตามประเพณี

ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า ประเพณีขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย เริ่มเลือนหายไปจากวันสงกรานต์ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วัดได้ดัดแปลงจากพื้นทรายรอบวิหารให้เป็นพื้นคอนกรีต หรืออิฐบล็อกแทน ทำให้ผู้คนไม่ค่อยนิยมขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทรายเช่นในอดีต 

การก่อเจดีย์ทราย สงกรานต์ 2566

 

ที่มา ประเพณีขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย

การขนทรายเข้าวัด เป็นกุศโลบายของทางวัดให้ชาวบ้านนำทรายมาทดแทนทรายที่เสียไปในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อชาวบ้านขนทรายเข้ามามากขึ้นจึงมีการสร้างเจดีย์ทราย โดยการนำไม้ไผ่สานมาขดให้เป็นวงกลม แล้วนำทรายมาถมให้เต็มเป็นชั้น ๆ เวียนขึ้นไปจนทรงคล้ายกับเจดีย์ เรียกว่า วาลุกเจดีย์ (อ่านว่า วา – ลุ – กะ เจดีย์) หรือเจดีย์ทราย อาจสร้างเป็นเจดีย์ทรายขนาดเล็กหลายๆ องค์ หรือเจดีย์ทรายองค์ใหญ่องค์เดียวก็ได้ แล้วจึงทำการถวายให้กับวัดในคราวเดียว

การก่อเจดีย์ทราย มีความสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ และประเพณีล้านนา โดยการสร้างวัดของคนล้านนาในอดีต เป็นการจำลองโลกตามคติไตรภูมิ คือ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเปรียบเสมือนเขาสิเนโรบรรพตซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ล้อมรอบวิหารด้วยทรายขาวสะอาดที่เป็นเสมือนมหาสมุทรสีทันดร ชาวล้านนาจึงมีความเชื่อว่าทุกครั้งที่เหยียบย่างเข้าไปในวัดแล้วมีทรายติดเท้าออกมาด้วยนั้นเป็นบาป

นอกจากนั้น ในคัมภีร์ใบลานธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ได้กล่าวว่าผู้ใดได้ถวายทรายหรือขนทรายเข้าวัดแล้วจะได้รับอานิสงส์ผลบุญให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนนาน พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมากมาย

ประเพณีก่อเจดีย์ทราย

อานิสงส์ การขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย 

มีความเชื่อว่า การถวายเจดีย์ทรายจะช่วยให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือเกิดในภพภูมิที่ดีบนสวรรค์ ตามที่ปรากฏความใน คัมภีร์ชื่อ "ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย" กล่าวถึงพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าโคตมะนั้น พระองค์ได้เกิดเป็นชายคนหนึ่งนามว่าติสสะ เมื่อนายติสสะพบลำธารที่มีทรายสีขาวสะอาดจึงก่อเจดีย์ทรายขึ้น แล้วฉีกเสื้อของตนมาทำเป็นธงติดกับไม้ปักไว้บนยอดเจดีย์ และตั้งจิตอธิษฐานให้ตนได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง 

กุศโลบาย การขนทรายเข้าวัด และก่อเจดีย์ทราย 

  • เป็นการสอนไม่ให้ทำผิดศีลข้อ 2(ลักทรัพย์)  เพราะเพียงแต่เศษทรายที่ติดรองเท้าออกไปโดยไม่มีเจตนา แต่ก็ถือเป็นการนำทรัพย์ผู้อื่นไป ฉะนั้นต้องนำมาคืนแก่เจ้าของ
  • สอนไม่ให้เป็นคนดูเบาต่อความผิดเพียงเล็กน้อย 
  • เป็นการสอนให้เห็นคุณค่าของบุญ ว่าสิ่งของใดที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวายแก่วัด ล้วนมีความสำคัญ
  • เป็นการสร้างความคุ้นเคย และสามัคคีให้เกิดแก่หมู่ญาติพี่น้องคนในชุมชน  และพระภิกษุสงฆ์ 
  • ทำให้จิตน้อมอยู่กับพระพุทธเจ้าด้วยการก่อพระเจดีย์ทรายน้อมถวายเป็นพุทธบูชา