ผ่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เปลี่ยนไปแค่ไหนในยุคหลังโควิด

22 ก.พ. 2566 | 23:30 น.

ผ่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เปลี่ยนไปแค่ไหนในยุคหลังโควิด แนวทางสำคัญที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยควรต้องรู้ ก่อนปรับตัวให้ทัน และใช้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สถานการณ์ "การท่องเที่ยว" กำลังกลับมาฟื้นตัวสุดขีดหลังจากผ่านช่วงเวลายากลำบากกับการเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-16 มายาวนานกว่า 3 ปี ข้อมูลล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในปี 2566 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 2.7 – 3.7%

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากจีนภายหลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการเปิดประเทศ คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ อาทิ รัสเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 

เช่นเดียวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ โดยพบว่าจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 26,402 เที่ยวบิน เทียบกับ 8,376 เที่ยวบินในเดือนมกราคม 2565 สอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ที่ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 71% เทียบกับปี 2565 

รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 5 ระยะดำเนินโครงการนับตั้งแต่ 7 มีนาคม 2566 จนถึง 30 เมษายน 2566 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สองของปีเพิ่มขึ้น

 

ภาพประกอบข่าว พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ในปี 2565 เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และมีจำนวนวันพักเฉลี่ยในประเทศไทยนาน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทั้ง มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดียที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าตัว 

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2565 มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 68,202 บาทต่อคนต่อทริป สูงกว่า 26,990 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด และมีจำนวนวันพักเฉลี่ยในประเทศไทยอยู่ที่ 16.2 วันต่อทริป ยาวนานกว่า 10.3 วันต่อทริป ในช่วงก่อนโควิดด้วย

รายได้การท่องเที่ยวสุขภาพพุ่ง

เมื่อพิจารณาการบริการด้านการท่องเที่ยวส่วนบุคคล จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า ธุรกิจบริการต่าง ๆ มีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายการสุขภาพและการศึกษาเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจุดประสงค์เพื่อการดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์เป็นอันดับต้น ๆ รองจากการพักผ่อนวันหยุด การซื้อสินค้าและของที่ระลึก และการเยี่ยมญาติหรือเพื่อน

โดยมีมูลค่าในปี 2565 อยู่ที่ 37,166.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของช่วงก่อนเกิดโควิด สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2565 อยู่ที่ 11.15 ล้านคน และหากแยกเฉพาะในรายการสุขภาพ มีมูลค่าอยู่ที่ 1,695.6 ล้านบาท และรายการการศึกษา อยู่ที่ 1,030.8 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่ามากกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด

 

ภาพประกอบข่าว พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เที่ยวด้วยตัวเอง

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กว่า 84.3% เลือกที่จะวางแผนและจัดการแผนการท่องเที่ยวด้วยตนเอง เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดที่มีเพียง 64.3% เนื่องจากมีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่หลากหลายอำนวยความสะดวกในการจัดการ สามารถจำกัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการท่องเที่ยวได้ตามสะดวก และสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น 

สอดคล้องกับรูปแบบการค้นหาข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ 53% และเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว 25% ขณะที่ช่วงก่อนเกิดโควิด แหล่งข้อมูลหลักคือเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว 32.5% และการแนะนำจากญาติหรือเพื่อน 13.2%

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปมาก

ข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2565 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเลือกทำกิจกรรมที่เน้นการใช้ชีวิตและเสริมสร้างประสบการณ์มากขึ้น ได้แก่ การใช้ชีวิตยามค่ำคืน การไปใช้บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียง การถ่ายรูป การพักผ่อนอยู่ในโรงแรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมภายในบริเวณโรงแรม

มากกว่าการไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เหมือนช่วงก่อนโควิด สะท้อนให้เห็นว่าในบริบทโลกหลังโควิด-19 นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากขึ้นกับปัจจัยด้านความสะดวกสบาย สุขอนามัย การใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการให้บริการอินเตอร์เน็ตและการชำระเงินออนไลน์

 

ภาพประกอบข่าว พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด

 

แนะภาครัฐต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่

ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในภาคบริการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องให้สอดคล้องกับบริบทด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างจากเดิมโดยการให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้ 

การส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง : ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสูง การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นกิจกรรมการท่องเที่ยวและการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวอัจฉริยะ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ข้อมูล และธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการปรับปรุงธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความพึงใจของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 

การจัดทำแผนการส่งเสริมการตลาดใหม่ : ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการรับฟังความเห็นในโลกออนไลน์ (Social Listening Tools) ประกอบการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย 

การรักษามาตรฐานและภาพลักษณ์ :  โดยเฉพาะบริการการท่องเที่ยว และสินค้าและบริการในธุรกิจต่อเนื่อง เพราะส่งผลโดยตรงต่อข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลักในการหาข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยว 

การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน : บริการขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน และการบริการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำกัดเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ยังเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ

ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นการใช้ชีวิตและเสริมสร้างประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวตามกระแสของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเวลาทำการและไม่จำกัดสถานที่ และความนิยมในการท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกระแสสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ