เอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าสังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

15 เม.ย. 2565 | 05:28 น.

EGCO มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ (ระยะที่ 2)” สนับสนุนการสร้างโมเดลจัดการขยะภายในองค์กรย้ำเจตนารมณ์ดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ ร่วมสร้างระบบนิเวศที่ดี เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

นางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป เข้าร่วมเป็นองค์กรภาคีเครือข่ายในโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ (ระยะที่ 2) : ร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน” ที่จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ 28 องค์กรพันธมิตร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับถนนวิภาวดีรังสิตอันเป็นที่ตั้งของอาคารเอ็กโกและองค์กรพันธมิตร

เอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าสังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

การเข้าร่วมโครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ (ระยะที่ 2) จึงไม่เพียงจะส่งเสริมการอยู่ร่วมกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของเอ็กโก กรุ๊ป ในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย

“เอ็กโก กรุ๊ป มีความเชื่อว่า “ต้นทางที่ดีจะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในทุกที่ที่ดำเนินกิจการ จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนทั้งระบบ” นางสาวสลิล กล่าวเจตนารมณ์องค์กร

 

แนวคิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจและค่านิยมองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงปัจจุบัน และมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกและระบบนิเวศที่ดีแก่ส่วนรวม เพราะการจัดการขยะไม่ใช่แค่กิจกรรม แต่ยังนำไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในที่สุด

โครงการถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ (ระยะที่ 2) จะเน้นการวิเคราะห์และต่อยอดผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 โดยเชื่อมโยงกับวาระแห่งชาติเรื่องการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) เพื่อพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้และขยายผลในวงกว้าง

 

รวมถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรแก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง