ผู้หญิง 50% เสี่ยง “ซึมเศร้าหลังคลอด” พร้อมคำแนะนำเพื่อรักษาได้ทัน

05 มี.ค. 2565 | 04:43 น.

มูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์มากอฟฟิน (PAM Foundation) จัดงาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” พร้อมแชร์ประสบการณ์ตรงจากคุณแม่ที่เคยมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ชี้ผู้หญิงประมาณ 50% มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แนะปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาได้ทัน

มร.เฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ PAM Foundation เล่าถึงประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการก่อตั้งมูลนิธิว่า ในปี 2564 ได้สูญเสียภรรยา คุณประณัยยา อุลปาทร และ ลูกชาย น้องอาร์เธอร์ไปอย่างน่าเศร้าจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จึงตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิในชื่อของทั้งสองคน เพื่อสานต่อการทำงานเพื่อสังคมของคุณประณัยยา รวมถึงสร้างการรับรู้ สนับสนุนการดูแลและการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาวะอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร

 

งานวิจัยจาก 80 ประเทศทั่วโลกที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature  พบว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นกับมารดามากกว่า 1 ใน 6 คน โดยแต่ละคนจะมีลักษณะและความหนักของอาการที่ต่างกันออกไป นอกจากสถิติที่สูงของการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดแล้ว ยังสามารถพบอาการทางจิตเวชอื่นๆที่เกิดกับมารดาในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตร

โดยประเด็นเหล่านี้มักจะไม่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง น้อยคนที่จะรับรู้ถึงภาวะอาการเหล่านี้ รวมถึงมุมมองทั่วไปในสังคมเกี่ยวกับปัญหาจิตวิทยาที่ไม่เป็นบวกนัก ส่งผลให้ผู้ที่ประสบภาวะอาการเหล่านี้มีความกังวลที่จะถูกตัดสินจากบุคคลภายนอก จึงทำให้การต่อสู้กับภาวะอาการทางจิตเวชในช่วงก่อนและหลังการคลอดบุตรยากขึ้นไปอีก

 

“ภาวะอาการทางจิตเวชเหล่านี้ เริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมและมีการพูดถึงมากขึ้นแบบเปิดเผย อย่างไรก็ดี คุณภาพของการรักษาผู้ป่วยที่ประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและภาวะต่างๆที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการดูแลผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยในประเทศไทย ยังสามารถที่จะพัฒนาได้อีกมาก PAM Foundation จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมี 3 วัตถุประสงค์หลักในการทำงานเกี่ยวกับโรคภาวะซึม เศร้าหลังคลอดและโรคทางจิตเวชอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สร้างการรับรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การให้ความดูแลแก่พ่อแม่มือใหม่ และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม” มร.เฮมิช มากอฟฟิน กล่าว

 

มร.เฮมิช มากอฟฟิน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ PAM Foundation

คุณจริยดี สเปนเซอร์ เล่าให้ฟังว่า หลังคลอดลูกในช่วง 2 ปีที่แล้ว มีอาการซึมเศร้าค่อนข้างหนัก ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเนื่องจากปกติเป็นคนที่มีมุมมองบวกกับชีวิต แต่หลังคลอดก็เริ่มมีอาการอยากอยู่เงียบๆคนเดียวซึ่งไม่ใช่นิสัยปกติ  ไม่อยากคุยกับใครแม้กระทั่งสามีเพราะคิดว่าสามีคงไม่เข้าใจ บางทีก็ร้องไห้ ไม่อยากเห็นหน้าลูก และเคยมีความคิดแวบเข้ามาในหัวว่าชีวิตนี้ไม่ดี คิดว่าสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะตนมีลูกในช่วงโควิด ไม่สามารถออกไปไหนได้

 

ส่วนลูกอีกคนก็ต้องเรียนหนังสือที่บ้าน มีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้เหมือนปกติ ประกอบกับเคยเป็นคนที่มีนิสัยเป็น Perfectionist  โชคดีที่ได้เล่าอาการเหล่านี้ให้คุณหมอฟัง คุณหมอจึงอธิบายว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดระยะแรกและให้ยารักษา พร้อมแนะนำว่าคุณแม่ให้สังเกตว่าตัวเองมีอาการที่แปลกไปจากเดิมหลังคลอด ควรรีบปรึกษาแพทย์และรีบแก้ไข  อย่าอายหรือกังวลความคิดของสังคม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวและคนใกล้ตัว

 

งาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด”

คุณศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา แชร์ประสบการณ์ที่เคยประสบภาวะ Baby blues ช่วงที่ลูกยังเล็กและเป็นโคลิค ลูกจะร้องไห้ตลอดช่วงสองทุ่มถึงตีห้าเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม หนิงจึงพบว่าภาวะ Baby blues เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้  ช่วงนั้นจะมีความรู้สึกขัดแย้งกันในตัวเอง มีความรักลูกขณะเดียวกันบางทีก็รู้สึกว่าไม่อยากมีลูก  ซึ่งสามีก็เข้าใจและพยายามดูแลโดยการพาไปดินเนอร์นอกบ้าน และให้มีเวลาส่วนตัวเพื่อผ่อนคลาย

 

แต่ก็ถึงอย่างนั้นในเวลาเดียวกันหนิงก็ยังมีอาการห่วงลูก ร้องไห้เวลาไม่ได้อยู่กับลูก และไม่อยากให้ใครมาแตะต้องลูก  สุดท้ายแล้วหนิงคิดว่าคุณแม่แต่ละคนจะมีวิธีต่างๆกันในการรับมือกับความเครียดและอารมณ์ของตัวเอง ที่สำคัญคือสมาชิกในครอบครัวต้องเข้าใจกันและกัน

งาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด”

ด้าน พญ. ญาดาวี ตั้งตรงไพโรจน์ กล่าวว่า ผู้หญิงหลังคลอดประมาณ 50% มีโอกาสเป็น Postpartum blues และมีบางส่วนที่จะกลายไปเป็น Postpartum depression โดยหลังจากการคลอดบุตร ระดับฮอร์โมนที่ลดลงจะส่งผลต่ออารมณ์ของมารดา ซึ่งการรักษาด้วยยาสามารถที่จะเพิ่มระดับฮอร์โมนให้ กลับขึ้นมาสมดุลย์ได้

 

อย่างไรก็ดี มารดาส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความเครียดและกดดันอื่นๆอีกมาก เช่น ความเชื่อว่าการให้นมแม่ดีที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจจะได้รับจากคนรู้จักและสื่อต่างๆ ส่งผลให้มารดาที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้เกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น จึงควรลดความกดดันเหล่านี้ โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและจิตของมารดามากขึ้น 

 

พญ. ญาดาวี แนะนำว่ามารดาควรนอนให้พออย่างน้อยหกชั่วโมง อาจจะข้ามการให้นมมื้อกลางดึกไปเพื่อให้พักผ่อนได้เพียงพอ นอกจากนี้หลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลในต่างประเทศจะมีการทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าหลังคลอดให้กับมารดา แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ปฏิบัติกันแพร่หลายมากนัก สิ่งที่สำคัญคือ มารดาที่ประสบภาวะอาการเหล่านี้ ควรจะรีบบอกให้คนใกล้ตัวและแพทย์ทราบโดยเร็วเพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทัน

 

ภายในงานยังมีการเปิดตัวกิจกรรมระดมทุนกิจกรรมแรกของมูลนิธิ PAM Foundation โดย มร.เฮมิชจะร่วมวิ่งในรายการ JOGLE ที่ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นระยะทางกว่า 1,400 กิโลเมตร จากตอนเหนือสุดของสก็อตแลนด์ลงไปถึงจุดล่างสุดของประเทศสหราชอาณาจักรที่เมืองคอร์นวอลล์ทางตอนใต้ โดยใช้เวลารวม 17 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2565 เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมูลนิธิ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รวมถึงระดมทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

 

สามารถติดตามคลิปวีดีโองาน “เปิดใจคุยกัน มารู้จักกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” และรายละเอียดเกี่ยวกับ มูลนิธิประณัยยาและอาร์เธอร์ มากอฟฟิน (PAM Foundation) และ JOGLE รวมถึงกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิได้ที่เว็บไซต์  www.pamfoundation.org