อย่าหาเรื่อง ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 เล่น ชีวิตจะยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

26 ส.ค. 2564 | 13:26 น.

"นพ.สันต์" เตือน อย่าหาเรื่องตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 หลังการฉีดวัคซีน ระบุ WHO ยังไม่เคยออกมาตรฐานน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันโควิด และการตรวจภูมิคุ้มกันโรคโควิดหลังฉีดวัคซีน ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรคโควิด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ได้โพสต์เขียนบทความ ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว @นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ กล่าวถึงการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด -19 หลังฉีดวัคซีน โดยคุณหมอได้อธิบายว่า “อย่า” หาเรื่องไปตรวจภูมิคุ้มกันโรคโควิด (antibody for spike protein ในรูปของ IgG และหรือ IgM) หลังการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะหลังการฉีดเข็มแรกหรือเข็มสองหรือเข็มสาม ไม่ว่าจะหลังฉีดวัคซีนอะไร และไม่ว่าจะหลังการฉีดแล้วกี่วัน เพราะ

 

ประการที่ 1. การตรวจภูมิคุ้มกันโรคโควิดหลังการฉีดวัคซีน ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรคโควิดของวงการแพทย์ทั่วโลกในปัจจุบัน เพราะวงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าการตรวจพบหรือไม่พบแอนติบอดี้ระดับเท่าได มีความสัมพันธ์กับอัตราการติดเชื้อและอัตราตายหลังการติดเชื้อแค่ไหน จึงเป็นการตรวจที่ใช้เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น ส่วนในการรักษาโรค ข้อมูลที่ตรวจมาได้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เอาไปตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย อย่าหลงคารมผู้เสนอขายสินค้าซึ่งปรารถนาแค่จะขายลูกเดียว

 

ประการที่ 2. น้ำยามาตรฐาน (reference agent) ที่จะใช้ในการตรวจภูมิคุ้มกันโควิดในโลกนี้ ยังไม่มี WHO ยังไม่เคยออกมาตรฐานน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันโควิด หน่วยมาตรฐานที่จะวัดภูมิคุ้มกันที่ยอมรับกันทั่วไปก็ยังไม่มี ถ้าคุณอ่านใบรายงานผลจะรายงานหน่วยนับเป็น AU ซึ่งย่อมาจาก Arbitrary Unit ฟังดูหรูเชียว แต่มันแปลว่า “หน่วยมั่ว” คือของใครของมัน มั่วกันขึ้นมาเอง บางแห่งก็รายงานผลเป็นเปอร์เซ็นต์ บางแห่งรายงานผลเป็นสัดส่วนความเจือจางของตัวทำละลายที่ยังตรวจพบภูมิได้ เช่น 1 ต่อ 20, 1 ต่อ 40, 1 ต่อ 80 เป็นต้น

บางแห่งใช้วิธีตรวจด้วยการดูโหงวเฮ้ง เรียกว่าแบบ rapid test โดยหยดเลือดแหมะลงบนกระดาษตรวจแล้วดูสีเอาแล้วอ่านเอาจากสีว่ามีภูมิหรือไม่มี ทั้งหมดนี้ผลตรวจแปลความหมายอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ตรวจพบหรือไม่พบก็เชื่อถือไม่ได้ ตรวจพบระดับเท่านั้นเท่านี้จะติดโรคน้อยลงหรือตายน้อยลงแค่ไหนก็แปลผลไม่ได้ ต้องฉีดวัคซีนซ้ำหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วจะตรวจไปทำพรื้อละ

 

ประการที่ 3. ผมขอใช้เวลาอธิบายหลักวิธีสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนของร่างกายสักหน่อยนะ มันสำคัญที่ท่านต้องเข้าใจหลักพื้นฐานก่อนเที่ยวไปตรวจนั่นตรวจนี้ คือการฉีดวัคซีนนี้ เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในส่วนที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (adaptive immunity) ระบบนี้ทำงานเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ

 

(1) ระบบจดจำหน้าตาเชื้อโรค (memory cell)

(2) ระบบสร้างเม็ดเลือดขาว เพื่อเจาะจงทำลายเชื้อโรค (Cell Mediated Immune Response – CMIR)

(3) ระบบสร้างโมเลกุลภูมิคุ้มไปทำลายเชื้อโรค (Humoral Immune Response – HIR)

 

ทั้งสามระบบย่อยนี้ ทำงานประสานกันทันทีจนเชื้อโรคหมด พอเชื้อโรคหมดแล้ว ส่วนการสร้างเม็ดเลือดขาวและการสร้างภูมิคุ้มกันจะหยุดทำงาน แต่ส่วนระบบจดจำจะทำงานต่อเนื่องไม่มีหยุด

ถ้าเราเจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันในจังหวะนี้ จะพบว่ามีภูมิต่ำหรือไม่มีภูมิเลย แต่ไม่ได้หมายความว่า วัคซีนที่ฉีดไปนั้นจะไม่คุ้มกันการติดเชื้อหรือจะไม่ลดการตาย เพราะพอเราไปติดเชื้อจริงเข้าตูม…ม ระบบจดจำก็จะแจ้งผลิตทั้งเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันขึ้นมาทันที แบบว่าสะเป๊คมีอยู่แล้ว ผลิตได้ทันทีตามต้องการ นี่เป็นหลักพื้นฐานในการทำงานของวัคซีนที่วงการแพทย์ทราบดี งานวิจัยหลักฐานทำนองนี้มีชัดมาก ชัดที่สุดในกรณีวัคซีนโรคตับอักเสบไวรัสบี. หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว ตรวจพบว่าไม่มีภูมิ แต่พอไปสัมผัสเชื้อจริง ก็เกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้นพรวดทันที่และพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้

ยกตัวอย่างในเรื่องโควิดนี้ก็ได้ พอเราฉีดวัคซีนไปสองเข็มแล้วงานวิจัยตรวจภูมิพบว่าไม่มีภูมิหรือมีภูมิต่ำ แต่พอฉีดเข็มที่สามก็พบว่ามีภูมิสูงขึ้นพรวดพราด ประเด็นที่ผมจะชี้ไม่ใช่ประเด็นวัคซีนเทพวัคซีนมารใครดีกว่ากัน แต่ผมจะชี้ให้เข้าใจกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันหลังได้วัคซีนว่าเมื่อจำเชื้อโรคได้แล้ว และทำลายเชื้อโรคหมดแล้ว ภูมิก็จะตก นี่เป็นปกติธรรมดา โดยที่วงการแพทย์ยังไม่รู้ก็คือยังไม่รู้ว่าวัคซีนโควิด19ตัวไหนใช้เวลากี่วันภูมิจึงจะตก การไปตรวจแบบสุ่มๆแล้วพบว่าภูมิตกแล้วร้องกระต๊าก..กระต๊าก.. นี่ไม่ใช่เป็นปกติธรรมดา แต่เป็นความบ้องตื้น หรือมองในแง่ไม่ดีก็เป็นการแกล้งบ้องตื้นเพื่อขายสินค้า ซึ่งหากมีเพื่อนแพทย์ทำอย่างหลังนี้เสียเอง ผมก็ได้แต่เสียใจ

กล่าวโดยสรุป การตรวจภูมิคุ้มกันโควิด19 ควรเป็นเรื่องของการทำวิจัยเพื่อวางแผนเลือกชนิดและระยะเวลาฉีดวัคซีนเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่ควรไปยุ่งด้วยเพราะจะเอาผลมาเปลี่ยนแผนจัดการโรคของตัวเองไม่ได้ หากคิดว่าจะตรวจเพื่อความสบายใจแต่บางกรณีอย่างเช่นของคุณนี้ผลตรวจออกมาแล้วกลับกลายเป็นไม่สบายใจยิ่งขึ้น คือเสียมากกว่าได้