ผ่างบข้าราชการ ไม่เกิน 10 ปี เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ แซงงบบุคลากร

04 ก.ค. 2565 | 04:19 น.

ผ่างบข้าราชการ นับถอยหลังไม่เกิน 10 ปี แนวโน้มงบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ พุ่งสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี เช็คข้อมูลย้อนหลัง ที่มาที่ไป และแนวโนเมงบประมาณภาครัฐ และจำนวนกำลังคนภาครัฐของไทย เป็นยังไงในช่วงที่ผ่านมา

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จัดทำ รายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ โดยรวมรวมข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบข้อมูลน่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

 

จากข้อมูลสถิติประชากรในประเทศ ปี 2564 เมื่อพิจารณาสัดส่วนกำลังคนที่เป็นแรงงานในภาพรวม เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศ จำนวน 66.17 ล้านคน พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน จำนวน 38.63 ล้านคน โดยเป็นการจ้างงาน ในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 2.91 ล้านคน ประกอบด้วย 

  • ข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน 
  • ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.23 ล้านคน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 – 2564 พบว่า งบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี โดยเฉลี่ย 10.82% ต่อปี ในขณะที่งบบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 1.73% ต่อปี 

 

อย่างไรก็ตามจากการประมาณการเบื้องต้น พบว่า งบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

 

แนวโน้ม บประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ จะสูงกว่างบบุคลากร ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี

 

สำหรับแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคล จากข้อมูลสถิติการคลัง ได้รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2564 รวมทั้งสิ้น 3.01 ล้านล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ คิดเป็น 36.4% ของรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.09 ล้านล้านบาท แยกตามงบรายจ่าย ดังนี้

  • งบบุคลากร 6.32 แสนล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายประจำปี สูงสุด คือ เงินเดือน 5.67 แสนล้านบาท รองลงมา ค่าตอบแทน พนักงานราชการ 3.91 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างประจำ 2.38 หมื่นล้านบาท 
  • งบกลาง 4.64 แสนล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายสูงสุด คือ เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ 3.08 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 7.97 หมื่นล้านบาท และเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 6.93 หมื่นล้านบาท 
  • งบบุคลากร หรือค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 

สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ (งบบุคลากร) ปีงบประมาณ 2564 แยกตามระดับกระทรวงและระดับกรม ดังนี้

 

1.หน่วยงานระดับกระทรวง ที่มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด ดังนี้

  • กระทรวงศึกษาธิการ 34.9% จำนวน 2.2 แสนล้านบาท
  • กระทรวงสาธารณสุข 17.7% จำนวน 1.11 แสนล้านบาท
  • กระทรวงกลาโหม 14.4% จำนวน 9.11 หมื่นล้านบาท
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.9% จำนวน 2.44 หมื่นล้านบาท
  • กระทรวงมหาดไทย 3.2% จำนวน 2 หมื่นล้านบาท

 

2.หน่วยงานระดับกรม (รวมหน่วยงานสังกัดกระทรวง และไม่สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี) ที่มีค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด ดังนี้

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 32.1% จำนวน 2.02 แสนล้านบาท
  • สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 15.7% จำนวน 9.9 หมื่นล้านบาท
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 13% จำนวน 8.2 หมื่นล้านบาท
  • กองทัพบก 8% จำนวน 5 หมื่นล้านบาท
  • กองทัพเรือ 2.9% จำนวน 1.83 หมื่นล้านบาท