ชำแหละผลกระทบ“TRUE ควบรวม DTAC” ได้ไม่คุ้มเสีย

09 มิ.ย. 2565 | 06:20 น.

ชำแหละผลกระทบ “TRUE ควบรวม DTAC” ได้ไม่คุ้มเสีย ชี้ลดช่อทางทางเลือกผู้ใช้บริการ ที่สำคัญค่าส่งผลกระทบค่าบริการพุ่ง

จากกรณีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายอนุมัติให้ควบรวมธุรกิจระหว่างกันทำให้หลายคนตั้งคำถาม?ว่า การควบรวมครั้งนี้ทำให้ผูกขาดธุรกิจ และ ลดทางเลือกการใช้งานของลูกค้า

 

ขณะที่นักวิเคราะห์และนักวิชการ สนับสนุนควบรวม TRUE และ DTAC ด้วยเหตุผลที่ว่าเรื่องปกติของธุรกิจ เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องตามเทรนด์ตามกระแส และ ผลของการควบรวมฯยังจะช่วยลดช่องว่างส่วนแบ่งตลาด ทำให้ผู้ให้บริการที่ตกเป็นรองมาตลอดมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด

 

มีเสียงสนับสนุนย่อมมีเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะฝากกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ  TDRI  โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่เห็นด้วยที่ TRUE กับ  DTAC  ควบรวมธุรกิจ  ด้วยเหตุผลที่ว่า  การควบรวม TRUE กับ DTAC จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น  เนื่องจากผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือที่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แต่จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น ดีลเลอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในหลายๆส่วน ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือ การควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้วการควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ หรือ ผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

แม้แต่ "เอไอเอส" ที่ไม่ได้อยู่ในดีลควบรวมนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นอย่างมาก ดังนั้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย 

 

ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบคือ ผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลงธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่คาดว่า จะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาล จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลงรายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป

 

ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด

 

สภาพตลาดการแข่งขัน TRUE-DTAC

 

"ดีลการควบรวม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์อย่างชัดเจน ดูได้จากราคาหุ้นของดีแทค ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วันหลังจากประกาศวบรวมเมื่อปลายเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15% ไม่เว้นคู่แข่ง เอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7% ด้วย แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 ราย จะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม"

 

เสนอทางออกไม่ต้องอนุญาต

 

นอกจากนี้  นายสมเกียรติ เสนอทางออกกรณีการควบรวมทรูกับดีแทคในประเทศไทย ว่า มีทางออก 3 แนวทาง ได้แก่ 

  • แนวทางแรก ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหาก ดีแทคจะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู
  • แนวทางที่สอง อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากและต้องเข้มข้นในทุกๆมิติให้บริษัทที่ควบรวมกันคืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ 
  • แนวทางที่สาม อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะ MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลจะยากมาก ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะยากมาก

 

“ตลาดโทรศัพท์มือถือในยุโรป จะไม่ยอมให้ควบรวมกันเหลือ 3 ราย แล้วมาเหลือ 2 ราย แม้กระทั่งสิงคโปร์ ซึ่งตลาดเล็กๆขนาดนั้นยังมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ราย แล้วทำไมไทยจะรองรับ 3 รายไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่ให้มีการควบรวม หากดีแทคจะออกจากตลาดไทย ก็ให้ขายให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรูอีกทั้งเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขัน มีต้นทุนลดลง จะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน”.