svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

กังขา รถเมล์ EV ยุคลุงตู่ล็อตแรก 953 ล้านเลี่ยงสภาพัฒน์ฯ กลั่นกรอง

07 มิถุนายน 2565

โครงการจ้างเหมาเอกชนเดินรถเมล์ EV จำนวน 224 คัน มูลค่า 953 ล้านบาท ยุครัฐบาลลุงตู่ น่ากังขา เร็ว หรือเลี่ยงเสนอเข้าบอร์ดสภาพัฒน์ฯ กลั่นกรอง หลังวงในระบุซอยโครงการย่อย ลดเวลาการจ้าง อาจกดราคาโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จับตาขสมก.เดินหน้ายังไงต่อ

แผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ล่าสุดของขสมก. เพื่อแก้ปัญหาการแบกภาระหนี้สินสะสมมหาศาลกว่า 1.3 แสนล้านบาท หนึ่งในนั้นคือการจัดหารถโดยสารใหม่ ในลักษณะของการ เช่า/จ้างภาคบริการ โดยจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (รถเมล์ EV)จำนวน 2,511 คัน 

 

ตามแผน ขสมก. กำหนดเอาไว้ว่า การจ้างเหมาเอกชนบริการเดินจำนวน 2,511 คัน จะซอยเป็นงวด ๆ รวมทั้งหมด 7 โดยในงวดที่ 1-6 กำหนดเอาไว้จำนวนงวดละ 400 คัน ส่วนงวดสุดท้ายกำหนดไว้ในส่วนที่เหลืออีก 111 คัน แต่ในงวดแรกนั้น กำหนดจะเร่งทำก่อน 224 คัน มูลค่า 953 ล้านบาท ผ่านการประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

 

ล่าสุดในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) “กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล” ออกมาระบุว่า ขสมก.พร้อมเดินหน้า แต่อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน และแน่ใจ ก็ได้เตรียมดันโครการนี้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดย ขสมก.ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ส่งผู้ร่วมสังเกตการณ์ต่อร่างเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) ของโครงการ ซึ่งปัจจุบันได้ทำ TOR เอาไว้ในเบื้องตันแล้ว

 

หากทุกอย่างผ่านฉลุย ก็ต้องเสนอเข้าไปยังบอร์ดขสมก. เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนประกาศประกวดราคาหาเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการนี้ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยอย่างเร็วที่สุดน่าจะได้ทำการจ้างเอกชนในช่วงปลาย ๆ ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

 

ส่องอายุรถเมล์ไทย ขสมก. ยี่ห้อไหนใช้งานมากี่สิบปี ก่อนลุยแผนจัดหารถใหม่

ตามแผนเดิม ขสมก. กำหนดว่าจะเริ่มการจ้างเอกชนวิ่งให้บริการในเส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง จากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 1,500 คัน โดยเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV เท่านั้น ใน 54 เส้นทาง (ภาคสมัครใจ) และจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว)

 

โดยกรณีจ้างเอกชนวิ่งให้บริการ (ภาคสมัครใจ) กำหนดกฎเหล็กไว้ว่า จะจ้างวิ่งตามกิโลเมตรบริการ เปิดให้เฉพาะรถเอกชนร่วมบริการที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น และสุดท้ายรถโดยสารที่จะนำมาให้บริการต้องเป็นรถใหม่ หรือรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปีด้วย

 

ดูไปดูมาเหมือนกับว่าไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด แต่ช้าก่อน... หากย้อนขึ้นไปดูรายละเอียดข้างต้นจะพบว่า ตามแผนในระยะแรกขสมก.กำหนดเอาไว้ว่า ในการดำเนินโครงการงวดแรกนั้น กำหนดการจ้างเหมาเอกชนบริการเดินเอาไว้จำนวนงวดละ 400 คัน

 

วัดใจแผนฟื้นฟู ขสมก. จ้างเหมาเอกชนวิ่งรถโดยสาร EV เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

 

กรณีนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าวมีเงื่อนงำที่น่ากังขา แยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

1. เรื่องวงเงินของโครงการ การปรับลดจำนวนรถโดยสารลงมาจากกรอบเดิม 400 คัน เหลือ 224 คัน มูลค่า 953,648,640 บาท แม้ว่าจะระบุว่าช่วยทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ขสมก.อาจจะหลีกเลี่ยงการเสนอโครงการนี้ไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์ฯ) กลั่นกรองโครงการ เพราะมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท

2. ระยะเวลาการจ้าง ซึ่งจะเริ่มนับจากวันถัดจากวันที่มีการบรรจุรถโดยสารปรับอากาศในคราวแรกตามใบอนุญาตขนส่งใหม่ และจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 730 วัน (24 เดือน) นับจากวันเริ่มจ้าง ด้วยวิธีประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

 

หากสิ้นสุดระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี หากมีการกำหนดเรื่องเอาไว้ใน TOR และตอนการเปิดประชาพิจารณ์ด้วยว่า หากหลังจากนั้นมีเปิดช่องให้ต่อเวลาอีกได้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นการเลี่ยงเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ชัดเจน เพราะวงเงินโครงการจะเกิน 1,000 ล้านบาท

 

เปิด TOR ขสมก. จ้างเหมาเอกชนวิ่งรถเมล์ EV 224 คัน ราคาเกือบพันล้าน

 

3. อัตราการจ้างเหมาเอกชน เบื้องต้นที่เคยคิดว่าจะจ้างในอัตรา 6,000 บาทต่อวันต่อคัน ถือเป็นตัวเลขที่สูง แม้ว่าทางขสมก. จะออกมาชี้แจงโดยหยิบเอาตัวอย่างต้นทุนของรถ ขสมก. ครีม-แดง ที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อคันต่อวัน เกิน 6,000 บาท มาเปรียบเทียบ พบว่า

 

ขสมก.ครีม-แดง จะมีค่าเหมาซ่อม 1,400 บาทต่อคัน ค่าเชื้อเพลิง ประมาณ 2,600 บาทต่อเที่ยว (คิดฐานราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 28-30 บาท) และค่าจ้างคนขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร 3,000 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งจะสูงกว่า 6,000 บาทต่อวันต่อคันแน่นอน เพราะเป็นการใช้น้ำมันดีเซล แต่กลับไม่นำผลการศึกษารถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นมาเทียบ 

 

4. สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อในปัจจุบัน มีความเป็นได้ว่ารายได้ที่ขสมก.จะจัดเก็บภายใต้อัตราค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) อาจไม่คุ้มค่าต่อต้นทุนการดำเนินงาน และสุดท้าย ขสมก. จะหาแหล่งเงินจากไหนมาจ้างเหมาเอกชน

 

ขณะที่ แหล่งข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ยังไม่เห็นเรื่องของขสมก. เสนอเข้ามาในบอร์ดสภาพัฒน์ฯ จะเห็นแค่ช่วงที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งขสมก.ได้รายงานแผนการฟื้นฟูกิจการในภาพรวมเท่านั้น

 

ส่วนกรณีของโครงการจ้างเหมาเอกชนนี้ แน่นอนว่า หากมูลค่าโครงการไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ก็ไม่เข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง และทำให้บอร์ดสภาพัฒน์ฯ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นประกอบเรื่องนี้ เหมือนกับโครงการอื่น ๆ ที่มีการแสดงความเห็น หรือทักท้วงในกรณีต่าง ๆ ได้

 

อย่างไรก็ตามใครที่จับตาดูโครงการนี้ว่าจะคลอดออกมาได้อย่างไร หรือจะสนองนโยบายของรัฐบาลได้มากแค่ไหน ไม่นานนี้ทุกอย่างจะเฉลยออกมาให้เห็นแน่นอน