ผวานโยบาย EV กระทบแผนเช่ารถโดยสารใหม่ บขส. เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

18 พ.ค. 2565 | 08:32 น.

ติดตามแผนเช่ารถโดยสารใหม่ บขส. หลังนโยบายรัฐหนุนใช้จัดหารถแบบ EV จับตา บขส. เดินหน้าต่อยังไง หลังวงในเปิดผลการศึกษา หวั่นมีผลกระทบเกี่ยวกับความปลอดภัย แถมต้นทุนสูง และโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ครอบคลุม เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. รัฐวิสาหกิจเก่าแก่สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ให้บริการขนส่งรถโดยสารประจำทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดต่าง ๆ มานานกว่า 90 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นเมื่อปี 2473 ตอนนี้กำลังเตรียมทำโครงการใหญ่ คือ การเช่ารถโดยสารใหม่ เพื่อทดแทนรถโดยสารเดิมที่สิ้นสุดสัญญาเช่า

 

ภายใต้โครงการเช่ารถโดยสาร (ใหม่) แบบเครื่องยนต์ดีเซล ขนาดความยาว 12 เมตร จำนวน 314 คัน ระยะเวลาการเช่า 4 ปี โดยใช้เงินภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณของบขส.เอง จำนวน 2,228 ล้านบาทเศษ มีรายละเอียด ดังนี้

  • การเช่ารถโดยสารมาตรฐาน 1 (ก) จำนวน 41 คัน ค่าเช่า 4,092 บาทต่อวันต่อคัน รวมค่าเช่า และค่าเหมาซ่อมตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน 288 ล้านบาท
  • การเช่ารถโดยสารมาตรฐาน 1 (พ) จำนวน 57 คัน ค่าเช่า 4,103 บาทต่อวันต่อคัน โดยรวมค่าเช่า และค่าเหมาซ่อมตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน 402 ล้านบาท
  • การเช่ารถโดยสารมาตรฐาน 1 (ข) จำนวน 216 คัน ค่าเช่า 4,139 บาทต่อวันต่อคัน โดยรวมค่าเช่า และค่าเหมาซ่อมตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน 1,537 ล้านบาท

ภาพประกอบ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)

 

เดิมทีเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีอะไรผิดแปลก โดย บขส. ได้ออกประกาศประกวดราคาไป ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อจัดเช่ารถโดยสารใหม่มาให้บริการประชาชน ลงวันที่ 1 เมษายน 2563 แต่สุดท้ายก็ถูกเบรกเอาไว้ จนต้องประกาศยกเลิกการประมูล 

 

บขส. ให้เหตุผลว่า กระบวนการในการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับ พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง จึงต้องขอยกเลิกการประกาศประกวดราคาโครงการนี้

 

ขณะเดียวกันการติดเบรกโครงการที่ว่า ยังมีสาเหตุมาจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเปลี่ยนไปส่งเสริมรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ รถโดยสาร EV แทน เพราะฝ่ายนโยบายหวังว่า จะช่วยให้เกิดการประหยัดต้นทุนจากปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น แถมพลังงานไฟฟ้ายังเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ก็ได้ประกาศออกมาว่า บขส.กำลังจัดทำแผนจัดหารถโดยสารพลังงานทางเลือก ขนาดเล็ก และ ขนาดใหญ่ รวมทั้งหมด 368 คัน สัญญาเช่า 7 ปี หนึ่งในนั้นคือ รถโดยสารขนาดใหญ่ 296 คัน ซึ่งเป็นรถโดยสาร EV ทั้งหมด

 

โดย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. บอกว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา รวมทั้งกำหนดราคากลาง ก่อนจะเปิดประมูลช่วงกลางปี พร้อมตั้งเป้าหมาย จะมีรถโดยสารใหม่คันแรกให้บริการกลางปี 2566

ภาพประกอบ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับโครงการนี้ หาก บขส. จะเอารถโดยสาร EV มาวิ่งให้บริการจริง เพราะอาจมีความเสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย โดยที่ผ่านมามีการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและทางเลือกของการใช้รถโดยสาร EV และรถโดยสารที่ใช้น้ำมันดีเซล

 

ตามผลการศึกษาและการทดสอบรถโดยสาร EV สรุปได้ว่า การนำรถโดยสาร EV มาใช้ไม่เหมาะสมกับการวิ่งรถทางไกล เพราะจะต้องชาร์จไฟฟ้าทุก ๆ ระยะทาง 300 กิโลเมตร ทำให้ใช้เวลาการเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น รถวิ่งทางไกลไปภาคอีสาน วิ่งได้ถึงจังหวัดนครราชสีมาก็ต้องแวะชาร์จไฟฟ้า 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ 

 

หรือหากจะเดินทางไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องแวะชาร์จไฟฟ้าประมาณ 3 ครั้ง ผู้โดยสารต้องลงจากรถเพื่อรออีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ทำให้เสียเวลาการเดินทางโดยใช่เหตุ และไม่จูงใจให้คนเข้าไปใช้บริการในอนาคตอย่างแน่นอน

 

ที่สำคัญอีกอย่างคือ การนำรถโดยสาร EV มาวิ่งในเส้นทางขึ้นเนิน หรือขึ้นเขา ยังเสี่ยงอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หากเกิดจราจรติด และมีการเหยียบเบรกในระหว่างที่รถกำลังขึ้นเนิน ระบบไฟฟ้าจะไม่มีกำลังส่งรถให้วิ่งต่อไปได้ จึงทำให้เสี่ยงอันตราย เพราะรถโดยสารขนาดใหญ่น้ำที่มีหนักกว่า 10 ตันจะไหลถอยหลังลงเนิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

 

ขณะที่ราคาเช่ารถ ยังพบส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซลมาก นั่นคือ การเช่ารถโดยสารดีเซลมีต้นทุนการเช่าอยู่ที่ประมาณวันละ 4,200 บาทต่อคันต่อวัน ส่วนการเช่ารถ EV มีต้นทุนการเช่าอยู่ที่ประมาณวันละ 5,800 – 6,000 บาทต่อคันต่อวัน (ราคาค่าเช่ายังไม่รวมค่าไฟฟ้า) 

 

นั่นจึงทำให้โครงการนี้ ต้องใช้วงเงินโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,2000 ล้านขึ้นไปอีก 7,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 4 ปี เงินทั้งหมดนี้จะใช้เงินของ บขส. ไปดำเนินการทั้งหมด
ทั้งนี้จากการคำนวณค่าเช่าเบื้องต้นของการเช่ารถโดยสาร EV ขนาด 12 เมตร รวม 296 คัน ประกอบด้วย

 

รถโดยสารมาตรฐาน 1 (ก) แยกเป็นดังนี้

  • ราคารถโดยสาร (รวม VAT) ราคา 6.6 ล้านบาท
  • รวมค่าเช่า 3,987 บาทต่อคันต่อวัน
  • รวมค่าเช่าและค่าเหมาซ่อม 5,331 บาทต่อคันต่อวัน
  • รวมค่าเช่า ค่าเหมาซ่อม ค่าตู้ชาร์จหม้อแปลง และค่าเดินระบบ 5,768 บาทต่อคันต่อวัน

 

รถโดยสารมาตรฐาน 1 (พ)

  • ราคารถโดยสาร (รวม VAT) ราคา 6.7 ล้านบาท
  • รวมค่าเช่า 4,054 บาทต่อคันต่อวัน
  • รวมค่าเช่าและค่าเหมาซ่อม 5,412 บาทต่อคันต่อวัน
  • รวมค่าเช่า ค่าเหมาซ่อม ค่าตู้ชาร์จหม้อแปลง และค่าเดินระบบ 5,849 บาทต่อคันต่อวัน

 

รถโดยสารมาตรฐาน 1 (ข)

  • ราคารถโดยสาร (รวม VAT) ราคา 6.9 ล้านบาท
  • รวมค่าเช่า 4,189 บาทต่อคันต่อวัน
  • รวมค่าเช่าและค่าเหมาซ่อม 5,575 บาทต่อคันต่อวัน
  • รวมค่าเช่า ค่าเหมาซ่อม ค่าตู้ชาร์จหม้อแปลง และค่าเดินระบบ 6,012 บาทต่อคันต่อวัน

 

ภาพประกอบ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกอย่างคือ ต้นทุนของการสร้างสถานชาร์จไฟฟ้าที่เป็นภาระของผู้ประมูลต้องลงทุน ประมาณการลงทุนไม่ต่ำกว่าแห่งละ 300 ล้านบาท และต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม มีสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย เนื่องจากสถานีชาร์จมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก

 

หากไม่มีสถานีจ่ายไฟ อาจทำให้เกิดการดึงไฟฟ้ารอบบริเวณสถานีชาร์จ จนส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนไฟฟ้าดับทั้งหมด และต้องไปตกลงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) ก่อนว่า จะสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าเพิ่มได้หรือไม่

 

“ขณะนี้ บขส. กำลังคิดหนักว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่ออย่างไร เพราะจะเขียนโครงการไปแบบเดิมคือรถดีเซล ก็โดนตีตก หรือถ้าเขียนโครงการใหม่ตามนโยบาย คือการเช่ารถโดยสาร EV ก็โดนตีอีกเช่นกัน เพราะมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ที่ต้องให้ความสำคัญนอกเหนือจากความคุ้มค่า และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับฐานะการเงินของบขส. ในอนาคตด้วย” แหล่งข่าวระบุ

 

เรื่องนี้น่าจับตาว่าในที่สุดแล้ว บขส.จะผลักดันโครงการต่อจนสุดทางหรือไม่

 

ภาพประกอบจาก : Facebook บขส.