ย้อนดูกฎหมาย “ไม้หวงห้าม" ทำอะไรได้ ไม่ได้ หลัง “ลุงพล” เจอคดีไม้มะค่าแต้

30 มี.ค. 2565 | 08:25 น.

ย้อนดูกฎหมาย “ไม้หวงห้าม" ทำอะไรได้ ไม่ได้บ้าง หลังศาลชั้นต้นพิพากษา “ลุงพล” คุก 4 เดือน รอลงอาญา 1 ปี คดีครอบครองไม้มะค่าแต้

กรณีศาลชั้นต้นพิพากษา "ลุงพล" คดีครอบครอง "ไม้มะค่าเเต้" โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ปรับเงิน 6,666 บาท ให้รอลงอาญา 1 ปี หลังจากก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบท่อนไม้ตะเคียนในศาลข้างบ้านลุงพล จนพบว่าที่แท้เป็น “ไม้มะค่าแต้” ไม้หวงห้าม 

ศูนย์ป่าไม้จังหวัดมุกดาหารขึ้นโรงพักกกตูมแจ้งความเอาผิดลุงพล ครอบครองไม้หวงห้าม แม้เจ้าตัวอ้างท่อนไม้ไหลตามน้ำลงจากภูเขาเก็บได้ในคลองแถวบ้านเลยเก็บมาวางให้คนกราบไหว้ขอโชคลาภ

ย้อนดูกฎหมาย “ไม้หวงห้าม" ทำอะไรได้ ไม่ได้ หลัง “ลุงพล” เจอคดีไม้มะค่าแต้

ย้อนดูกฎหมาย “ไม้หวงห้าม" ทำอะไรได้ ไม่ได้ หลัง “ลุงพล” เจอคดีไม้มะค่าแต้

ไม้มะค่าแต้ เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านและแผลใบได้กว้างมียอดเป็นรูปร่มหรือทรงเจดีย์ต่ำ ถือเป็นไม้หวงห้าม หากครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ตามมาตรา 69 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

เมื่อมาดู พ.ร.บ ป่าไม้ พ.ศ 2484 ระบุว่า ไม้หวงห้าม หมายความว่า ไม้ชนิดดีมีค่า จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เสียก่อน อาทิ ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้หลุมพอ ไม้มะค่าโมง ไม้เต็ง รัง ฯลฯ

 

เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะเข้าไปคัดเลือกและตีตราประจำต้น เพื่ออนุญาตให้ตัดได้ ต่อเมื่อไม้เหล่านี้ ล้มลงและตัดทอนแล้ว จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ไม้ที่ล้มนั้นมีตราถูกต้องหรือไม่ ทอนได้เป็นกี่ท่อน

 

เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะตีตราที่ท่อนซุงทุกท่อนอีกครั้ง ซึ่งการตีตราตรวจสอบครั้งนี้เรียกว่า “ตีตราชักลาก” เมื่อได้ผ่านวิธีการนี้แล้ว จึงจะชักลากไม้นั้นให้ห่างออกไปจากตอเดิมได้

 

ไม้หวงห้ามแบ่งเป็น 2 ประเภท

  • ประเภท ก.ไม้หวงห้ามธรรมดา เป็นพันธุ์ไม้ที่ให้เนื้อไม้มีคุณภาพดี ซึ่งใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้นั้น ทางการจะยอมให้ตัดฟัน และชักลากออกมาทำสินค้าได้ ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน โดยมีไม้ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในประเภทนี้ จำนวน 158 ชนิด พร้อมกำหนดอัตราค่าภาคหลวงไว้ด้วย อาทิ ไม้มะค่าโมง ไม้ประดู่ อินทนิล ตะแบกเปลือกหนา ตะแบกเปลือกบาง เสลา ตะเคียน สนทะเล เต็ง หรือแงะ รังหรือเปา ยางกรวด ยางพลวง เป็นต้น
  • ประเภท ข.ไม้หวงห้ามพิเศษ ได้แก่พันธุ์ไม้บางชนิดที่ทางการได้พิจารณาเห็นว่าเป็นไม้ชนิดดีมีค่าหายาก เป็นไม้หวงห้ามชนิดพิเศษ จะห้ามมิให้ตัดฟันโค่นล้ม เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตในกรณีพิเศษ อาทิ พันธุ์ไม้ที่ใช้ยางนำมากลั่นเป็นน้ำมันหรือชัน คือสนเขา สนสองใบ สนสามใบ พันธุ์ไม้ที่มีปริมาณน้อยและหายากได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สามพันปี กฤษณา กระตุก กระเบาใหญ่ มะพอก รักใหญ่ ไม้สัก ไม้พะยูง และไม้ยางทุกชนิด (ยางนา ยางพาย ยางแดง ยางมันหมู ยางเสียน) เป็นต้น ดังนั้น กรณีมีไม้หมวดนี้ขึ้นอยู่ในที่ดินของคุณและคุณต้องการจัดการกับมัน คุณต้องไปขออนุญาติจากสำนักงานป่าไม้จังหวัดเป็นลำดับแรก  

 

ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ปลดล็อกไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 ซึ่งเดิมไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ต้องขออนุญาต แต่ปัจจุบันไม่ต้องขออนุญาตถ้าหากอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งรวมถึงการตัดและการแปรรูปด้วย

 

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ในมาตราที่ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484

 

หลักสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ หวังให้การทำไม้ การเคลื่อนย้าย หรือการส่งเสริมอุตสาหกรรม การใช้ประโยชน์จากไม้หวงห้าม ไม้มีค่า ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับเก่า ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ป้องกัน รักษาไม้มีค่า ที่อยู่ในป่า เป็นหลัก  จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการปลูก และใช้ประโยชน์จากไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ที่เคยส่งเสริมการปลูกมาหลายสิบปีแต่เกษตรกรผู้ปลูก ไม่สามารถตัดมาใช้ประโยชน์ได้ 

 

มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวล กฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภท หนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม

 

ตัด ขาย ขนย้าย แปรรูป ต้องทำอย่างไร?

  • ปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิ ครอบครองตามประมวลกฏหมายที่ดิน ทำให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น 
  • ไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือ สิทธิครอบครองตาม ประมวลกฏหมายที่ดิน ไม่จัดเป็นไม้หวงห้าม
  • การทำไม้ ( ตัด แปรรูป ขนย้าย ) ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้หากประสงค์ให้ จนท. รับรองสามารถ ดำเนินการได้ตามความสมัครใจ
  • การรับรองไม้เพื่อการค้าการส่งออก ปัจจุบันได้ กำหนดหมวดการรับรองไม้/ สิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ สิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้เพิ่มเติม สามารถขอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ออกใบรับรองได้
  • ไม้ที่ตัด หรือแปรรูปจากสวนป่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสวนป่าแล้ว สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด 

อ้างอิงข้อมูล : สำนักวิจัยเเละพัฒนาการป่าไม้  เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา