คลองด่านฝีแตก นักการเมืองหนี เอกชนติดคุก รัฐจ่ายอ่วมกว่า 3 หมื่นล้าน

08 มี.ค. 2565 | 07:06 น.

ดับฝันรื้อคดีค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง ชี้ไม่มีหลักฐานใหม่ บังคับใช้คำสั่งศาลปกครองสูงสุดครั้งก่อน รัฐจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนตามคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ ที่เหลืออีก 2งวดกว่า 6 พันล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2558 รวมรัฐสูญเฉียด 3 หมื่นล้าน

 

ฝีคดีคลองด่านยังลามไม่หยุด ล่าสุด 7 มี.ค. 2565 แตกอีกดอก เมื่อศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงการคลัง ที่ชี้ว่าเอกชนกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ร่วมกระทำผิดกับอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษในโครงการคลองด่าน

 

เนื่องจากศาลเห็นว่า กระทรวงการคลังมิใช่คู่กรณี หรือคู่สัญญา ไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ส่วนกรมควบคุมมลพิษ ได้ยกข้อเท็จจริงนี้ในคดีฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม กับพวก ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับฟ้องอาญาอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครองมาแต่แรกแล้ว ไม่ใช่หลักฐานใหม่ที่จะทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่มีผลต่อการวินิจฉัยคดี  

คลองด่านฝีแตก นักการเมืองหนี เอกชนติดคุก รัฐจ่ายอ่วมกว่า 3 หมื่นล้าน  

ศาลปกครองสูงสุดยังให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ นั่นคือ กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ต่อไป 

 

คดีพิพาทนี้อนุญาโตตุลาการเคยวินิจฉัย ปี 2557 ให้รัฐจ่ายค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย จำนวน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลลาร์สหรัฐ แก่กลุ่มเอกชน 

กรมควบคุมมลพิษไม่รับคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการ กลุ่มเอกชนนำเรื่องฟ้องศาลปกครอง ต่อสู้คดีถึงศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้รัฐจ่ายให้เอกชนตามคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด ทั้งค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย เป็นเงินรวม 9,058 ล้านบาท  หรือที่ถูกเรียกว่า"ค่าโง่คลองด่าน"ดังกล่าว ซึ่งยืดเยื้อถึงวันนี้คาดวงเงินความเสียหายอาจแตะ 30,000 ล้านบาท    

 

เพราะมหกาพย์คดีคลองด่าน มีหลากหลายคดีต่อเนื่องพัวพัน และโยงใยกันไปมา 

 

คดีคลองด่านคืออะไร 

โครงการคลองด่าน หรือชื่อเต็มโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ของกรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามสัญญาจ้างกับเอกชนเมื่อ 20 ส.ค.2540 โครงการนี้มีการปรับแบบแก้สัญญาหลายระลอก และมูลค่าโครงการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ

 

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาสังคมในพื้นที่ และองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ชี้เงื่อนงำการบริหารโครงการ อาทิ การจัดซื้อที่ดินตั้งโรงบำบัดน้ำเสียของโครงการ การปรับแบบจากเดิมแยกดำเนินการคนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันตก-ตะวันออก) มาเป็นโครงการเดียวกัน เพิ่มความยาวท่อลำเลียงน้ำเสียเพื่อเข้าโรงบำบัดมหาศาล  จาก 1.36 หมื่นล้านบาท เป็น 2.3 หมื่นล้านบาท 

 

จนต่อมามีการฟ้องร้องเป็นคดีความกันไปมาหลายคู่หลายกรณี จากความอื้อฉาวดังกล่าว ในที่สุดกรมควบคุมมลพิษตัดสินใจไม่ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ขณะโครงการก่อสร้างไปแล้วเกือบ 95 % จนคาราคาซังและพับโครงการในที่สุดโดยทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการนี้แม้แต่วันเดียว 

 

กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี คือใคร?  

กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี คู่สัญญากรมควบคุมมลพิษ ในโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน  ประกอบไปด้วย 6 บริษัท คือ 
    N-บ. นอร์ทเวสท์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 
    V-บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด 
    P-บ.ประยูรวิศการช่าง จำกัด 
    S-บ. สี่แสงการโยธา จำกัด 
    K-บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และ 
    G -บ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด
    
รวมมิตร"คดี"คลองด่าน

ฝีแตกคดีคลองด่าน เริ่มจาก

 

1.คดีของนักการเมือง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550  และหมายเลขแดงที่ อม.2/ 2551 ฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่ามีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.148 เป็นเจ้าพนักงาน ใช้ตำแหน่งข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดโดยมิชอบ สั่งลงโทษจำคุก 10 ปี โดยนายวัฒนาไม่มาฟังคำพิพากษา และหลบหนีไปต่างประเทศนับแต่นั้น

 

ต่อมานายมีความพยายามขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โดยร้องทุกช่องทางทั้งยื่นป.ป.ช. ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง โดยอ้างมีข้อเท็จจริงใหม่ที่มีสาระสำคัญต่อการวินิจฉัยคดีใหม่ แต่ไม่เป็นผล

 

2.คดีอาญาฟ้องกิจการร่วมค้าฯ-ผู้บริหารบริษัทเอกชน โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ ฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กับพวก อาทิ ผู้บริหารกลุ่มบริษัท นายวัฒนา อัศวเหม เป็นจำเลยที่ 1-19  ฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ที่ดินนั้นกลับเป็นกลุ่มบริษัทจัดหามาแล้ว ที่ดินนั้นเป็นคลอง ถนนสาธารณะ และป่าชายเลน และฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท 

 

คดีนี้ศาลสั่งไม่รับฟ้องกิจการร่วมค้าฯ (ตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์) จำเลยปฎิเสธ สู้คดีกัน 3 ศาล โดยคดีพลิกกลับไปมา กระทั่ง 18 ส.ค.2551 นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินให้จำเลยที่2-19 กระทำผิดตามฟ้อง สั่งจำคุก 3-6 ปี และค่าปรับตั้งแต่ 6,000-12,000 บาท 

 

3.คดีฟ้องอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ ป.ป.ช.แยกคดีชี้มูลความผิดอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ เสนออัยการสูงสุด ซึ่งได้สั่งคดีเป็นโจทก์ ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อดีตผู้อำนวยการกองจัดการน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานทุจริตการดำเนินโครงการคลองด่าน

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษากระทำผิดกฎหมายอาญา ม.151 และม.157 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกับเเอกชนทุจริตโครงการคลองด่าน สั่งจำคุกจำเลยทั้ง 3 คนละ 20 ปี  จำเลยอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 3  ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดหารือป.ป.ช. เห็นฟ้องจะไม่ฎีกาคำพิพากษาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 เนื่องจากขาดอายุความ แต่จะฎีกาฟ้องคดีจำเลยที่ 2 และ 3 ต่อ ขณะนี้รอศาลฎีกาตัดสิน

 

4.คดีเอกชนฟ้องเรียกชำระการก่อสร้าง ผลจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีฟ้องอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ (ข้อ3.) ที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับเอกชนทุจริตโครงการคลองด่าน เป็นช่องทางให้สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกขึ้นต่อสู้ โดยสำนักงานป้องกันป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สั่งอายัดสิทธิการจ่ายค่าเสียหายงวดที่ 2 และ 3 ที่รัฐต้องจ่ายกิจการร่วมค้าฯ

 

โดยก่อนหน้าเมื่อโครงการถูกตรวจสอบเข้มข้น จนมีการส่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ไปนั้น ต่อมากรมควบคุมมลพิษ ตัดสินใจไม่จ่ายค่างวดงานสุดท้ายแก่กิจการร่วมค้าฯ โดยได้ก่อสร้างไปแล้ว 95 % จนเอกชนนำเรื่องขึ้นร้องอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาอนุญาโตฯวินิจฉัยเมื่อปี 2547 ให้รัฐจ่ายค่าก่อสร้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย แก่กิจการร่วมค้าฯ 

 

กรมควบคุมมลพิษ ไม่เห็นชอบกับคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ กิจการร่วมค้าฯจึงนำเรื่องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จนถึงศาลปกครองสูงสุดในอีก 10 ปีต่อมา  มีคำพิพากษาให้รัฐชำระค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบื้ย รวมเป็นมูลค่า  9,058 ล้านบาท  

 

17 พฤศจิกายน 2558 ครม.ประยุทธ์ อนุมัติงบกลางปี 2559 ให้กระทรวงทรัพยฯ ชำระหนี้ให้กิจการร่วมค้าฯ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยรัฐขอแบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดแรกชำระเมื่อ 21 พ.ย.2558 กว่า 3 พันล้านบาท ท่ามกลางกระแสคัดค้านอื้ออึง 

 

ก่อนจะครบกำหนดจ่ายส่วนที่เหลือ งวด 21 พ.ค. และงวด 3 วันที่ 21 พ.ย. ปี 2559 ศาลอาญาพิพากษาว่า 3 อดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับเอกชนกระทำผิดทุจริตโครงการคลองด่าน สำนักงานปปง.จึงอายัดการจ่ายเงินงวด 2 และ 3 ไว้ก่อน พร้อมกับที่กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกระทรวงคลัง ยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำฟ้องขอรี้อฟื้นคดีดังกล่าว และให้กลับไปบังคับคำสั่งเดิม คือให้รัฐชำระเงินให้เอกชนดังกล่าวข้างต้น

 

นั่นคือ ต้องจ่ายค่าก่อสร้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย แก่กิจการร่วมค้าฯ คู่สัญญารับเหมาก่อสร้างโครงการคลองด่าน อีก 2 งวดที่เหลืออีกประมาณ 6 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่ปี 2558 ดังกล่าว

 

ส่วนการจะไปฟ้องไล่เบี้ยเรียกชดใช้จากผู้รับผิดชอบ กรมควบคุมมลพิษ เรียกชดใช้ความเสียหายจากนายวัฒนา อัศวเหม เป็นเงิน 5,289 ล้านบาท กับอีก 36.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นายวัฒนานำเรื่องฟ้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อ 13 ก.ย. 2562 ว่า คำสั่งกรมฯให้นายวัฒนาชดใช้ เงิน 5,289 ล้านบาท กับอีก 36.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นคำสั่งโดยชอบ

 

หรือที่เรียกชดใช้จากอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ  ศาลปกครองกลางพิพากษา 3 ก.ย.2563 ให้อดีตข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จำนวน 3 ราย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ 1.นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(อคพ.) ชดใช้ค่าเสียหายทั้งเงินบาทและดอลลาร์ รวมกว่า 4,500 ล้านบาท 2.นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีต อคพ ชดใช้รวมกว่า 3,000 ล้านบาท และ 3.นางยุวรี อินนา อดีต ผู้อำนวยการกองจัดการน้ำ คพ. รวมกว่า 3,000 ล้านบาท รวมเป็นมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท 

 

เรื่องคดียังต้องต่อสู้กันต่อหากยังมีช่องทาง และแม้คดีถึงที่สุดให้รัฐชนะ จะตามตัวมาให้ชดใช้ หรือถึงได้ตัวก็ไม่แน่ว่าจะมีทรัพย์สินเหลือ ให้ชดใข้ความเสียหายให้รัฐได้กี่มากน้อย

 

เป็น"ค่าโง่คลองด่าน" ทั้งที่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท กับค่าก่อสร้างโครงการอีกเฉียด 2.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่เคยได้บำบัดน้ำเสียแม้แต่หยดเดียว