จับกระแส ‘หนีเมืองใหญ่’ โอกาสใหม่‘หัวเมืองรอง’

05 ธ.ค. 2564 | 09:41 น.

ความก้าวหน้าเทคโนโลยีสื่อสาร และการระบาดเชื้อโควิด-19 ผู้คนปรับตัวรับภัยคุกคามหันไปทำงานทางไกล หรือทำงานจากบ้าน(WFH) หลายองค์กรประกาศเป็นนโยบายถาวร เปิดทางให้กระแส"หนีเมืองใหญ่"ที่เกิดในประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวเร็วขึ้นไปทั่วโลก เปิดโอกาสธุรกิจในหัวเมืองรอง

การระบาดเชื้อโควิด-19 เร่งการปรับตัวสู่สังคมดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้น  รวมทั้งการทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home WFH หรือ work from Anywhere ช่วยเสริมกระแสทิ้งเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง สู่เมืองขนาดเล็กหรือหัวเมืองรองที่ก่อตัวในประเทศพัฒนาแล้วมาก่อนหน้านี้ให้พัดแรง และจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง เทรนด์การย้ายออกจากเมืองใหญ่ ภูมิภาคไทยควร เตรียมความพร้อมอย่างไร โดย จิตสุภาสุขเกษม และ อวิกา พุทธานุภาพ นักวิจัยสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ชี้ว่า กระแสการ ย้ายถิ่นมีทั้งปัจจัยผลักดันจากเมืองใหญ่และปัจจัยดึงดูดของเมืองรอง

จับกระแส ‘หนีเมืองใหญ่’ โอกาสใหม่‘หัวเมืองรอง’

จากการศึกษากรณีสหรัฐอเมริกาพบว่า เมืองใหญ่มีการย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า (ก.พ. 2563 - มี.ค. 2564) 82% ขณะที่ชานเมืองมีอัตราการย้ายเข้ามาก กว่าออก 91% โดยปัจจัยหนุนมีทั้ง WFH เป็นนโยบายถาวรของหลายองค์กรราคาที่พัก ค่าครองชีพ และภาษีเมืองรองมีอัตราตํ่ากว่า รวมถึงนโยบาย “Welcoming America” ของทางการ จัดโปรแกรมอบรมพัฒนาทักษะแรงงานดึงดูดคนย้ายถิ่นและผู้อพยพที่มีทักษะน้อย ไปอยู่ในเมืองเล็ก 
    

 

ที่ญี่ปุ่น ปี 2563 ประชากรย้ายออกจากโตเกียวมากสุดเป็นประวัติการณ์โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากพนักงานในเมืองหลวงถูกลดค่าจ้างหรือเลิกจ้าง สภาพแวดล้อมและค่าครองชีพเมืองรองดีกว่า นโยบายรัฐบาลก็สนับ สนุนการทำงานทางไกล และย้ายออกจากเมืองหลวง ให้พนักงานบริษัทในโตเกียวย้ายไปประจำสำนักงานสาขาในเมืองรอบนอก 

ขณะที่ไอร์แลนด์ รัฐบาลมีนโยบาย “Our Rural Future” ปี 2564-2568 กระจายความเจริญและสนับสนุนย้ายไปชนบท ทั้งย้ายข้าราชการ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทำงานทางไกลมีนโยบายภาษีสำหรับบุคคลและองค์กรที่ WFH หนุนท้องถิ่นปรับปรุงอาคารว่างเป็นศูนย์กลางการทำงานทางไกล 

 

คณะวิจัยพบด้วยว่า กรณีประเทศไทยปี 2563 เกิดกระแสย้ายจากเมืองใหญ่เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็น การย้ายกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่กลุ่ม WFH และ WFA เริ่มมีให้เห็นบ้าง อาทิ องค์กรระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในไทย หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกาศนโยบาย WFH ถาวร เช่น SCB แสนสิริ เป็นต้น

 

โดยปี 2563 มีผู้ย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น 60% จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการย้ายถิ่น 1.5% สูงสุดในรอบ 7 ปี  โดยภาคเหนือและอีสานมีอัตราการย้ายเข้ามากกว่าย้ายออก ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ขณะที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาตใต้ มีอัตราการย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า 

 

เวลานี้ในประเทศไทยยังไม่เห็นการย้ายออกจากเมืองใหญ่ที่ชัดเจนนัก แต่ผู้วิจัยเชื่อว่าระยะยาวประเทศไทยจะเปลี่ยนไปตามกระแสโลกนี้มากขึ้น

 

เมื่อไปสำรวจความพร้อมพื้นที่ภูมิภาคไทย ที่จะใช้จังหวะช่วงเปลี่ยนผ่านปรับโครงสร้างต่างๆ ให้พร้อมรับโลกยุคใหม่อย่างยั่งยืน ผ่านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ พบว่ามี 2 ด้านภูมิภาคของไทยมีความพร้อมระดับหนึ่ง คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและการสื่อสารของไทยมีความก้าวหน้าเพิ่มรวดเร็ว คนเข้าถึงอินเตอร์เนตครอบ คลุมทุกพื้นที่ และใช้งานเฉลี่ยต่อวันเพิ่มทุกภูมิภาค ถูกจัดเป็นประเทศอุบัติใหม่แถวหน้าที่โดดเด่น 

 

ขณะที่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ราคาที่อยู่อาศัยในภูมิภาคตํ่ากว่าเมืองใหญ่และกรุงเทพฯชัดเจน จากต้นทุนค่าที่ดินและค่าแรงตํ่ากว่า โดยค่าเช่าออฟฟิศย่านซีบีดีในกรุงเทพฯเฉลี่ย 1,000บาท/ตารางเมตร/เดือน เทียบ 300-600 บาท/ตารางเมตร/เดือนในจังหวัดหัวเมือง

 

ส่วนอีก 2 ด้านยังค่อนข้างจำกัด คือ ด้านสาธารณสุข ภาพรวมด้านนี้ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตามหากดูสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร พบว่าในต่างจังหวัดยังตํ่ากว่าเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯจากตัว เลขค่าเฉลี่ยทั่วประเทศแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,674 คน ที่กรุงเทพฯ มี 1:565  ที่เหลือสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตํ่าสุดที่ 1:2,623 

 

ด้านการศึกษา คุณภาพในภูมิภาคค่อนข้างต่างจากเมืองใหญ่ สะท้อนจากคะแนน O-Net มัธยมปลาย ปี 2562 กรุงเทพฯสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนภูมิภาคที่เหลือใกล้เคียงกันและตํ่ากว่ากรุงเทพฯ 

 

ทีมวิจัยเสนอว่า การพัฒนาและกระจายการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการยกระดับการศึกษา รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ทุกกลุ่ม จะเป็นกุญแจสำคัญหนุนหัวเมืองภูมิภาคของไทย ให้เกาะไปกับเทรนด์นี้ได้อย่างยั่งยืนรวมท้้งจะช่วยกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมลํ้าทางโอกาสลดความแออัดและปัญหาจากการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ 

 

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าพอรองรับการทำงานทางไกล เพิ่มทางเลือกการจ้างงาน องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายประกาศนโยบาย WFA ถาวร แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว นอกจากเพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานของพนักงาน ที่ไม่ต้องผูกติดสำนักงานหรือชั่วโมงทำงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายสำนักงาน ลดต้นทุนและเวลาการเดินทางไปทำงาน บางองค์กรทำข้อตกลงค่าจ้างใหม่ที่ถูกลงกับพนักงานที่เลือก WFH ทำให้ลดต้นทุนเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

 

นอกจากนี้แนวโน้มการจ้างแรง งานคนรุ่นใหม่เริ่มหันไปทำงานฟรีแลนซ์งานในลักษณะสัญญาจ้าง งานรับจ้างเป็นชิ้นงานหรือโครงการมากขึ้น ซึ่งจะ มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าการเป็นพนักงานประจำเพิ่มขึ้น สามารถโยกย้ายไปยังพื้นที่ทำงานใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น 

 

วิถีชีวิตแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คือโอกาสธุรกิจของผู้ประกอบการ ที่จะพัฒนาและออกแบบโมเดลธุรกิจใหมโดยเฉพาะหัวเมืองต่างจังหวัดที่มีข้อได้เปรียบจากค่าครองชีพและค่าที่พักอาศัยที่ถูกกว่าเมืองใหญ่ หากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้รับการพัฒนาใกล้เคียงกันทั้งประเทศ ย่อมมีโอกาสดึงดูดผู้คนให้ย้ายจากเมืองใหญ่ได้มากขึ้น อยู่ที่ว่าใครจะพัฒนาตัวแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์ได้ตรงใจกลุ่มคนเหล่านี้ได้ดีกว่า 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5-8 ธันวาคม พ.ศ.2564