เจาะลึกหนี้ครัวเรือนภูมิภาค  ‘อีสาน’หนักสุด หนี้ท่วม-เสี่ยงสูง

08 ต.ค. 2564 | 23:11 น.

หนี้ครัวเรือนไทยทะยาน 90.5 %ของจีดีพี ติดอันดับ 17 ของโลก จากผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่ครัวเรือนไทยแบกหลังแอ่นมานานก่อนหน้านี้แล้ว นักวิจัยธปท.เจาะลึกรายภาค พบมีหนี้ภาคอีสานแบกภาระหนี้ก่อนใหญ่สุด แถมยังมีภาวะเปราะบางสูงสุด

การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ซํ้าเติมภาระ“หนี้ครัวเรือน” ไทยให้รุนแรงยิ่งขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) รายงานว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และคาดว่าอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564

หลายประเทศก็เจอปัญหาเดียวกัน อาทิ เกาหลีใต้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน อยู่ในอันดับที่ 9 และ 14 ของโลก ขณะที่ไทยตํ่ากว่า โดยติดอันดับที่ 17 ของโลก แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับที่ 26 ของโลก สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่กับเศรษฐกิจมายาวนาน และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาซํ้าเติม ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในอนาคต และบั่นทอนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่

จากภาพใหญ่ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในภาพรวมของประเทศที่รุนแรงเพิ่มขึ้นนี้ ทีมนักวิจัยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมนัสชัยจึงตระกูล ศรันยา อิรนพไพบูลย์ วัชรพงศ์ รัชตเวชกุล และ อนุสรา อนุวงค์ รายงาน “X-ray หนี้ครัวเรือนภูมิภาค” สร้างความเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทยที่ลงลึกและฉายภาพในรายละเอียดยิ่งขึ้น

หนี้ครัวเรือนไทยทะยาน

จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งประเทศในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากยอด 5.6 ล้านล้านบาทในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านล้านบาทในปี 2563 ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม พบว่าครัวเรือนไทยที่มีหนี้มีสัดส่วนลดลง จากระดับ 61% ในปี 2552 เหลือ 45% ในปี 2564

เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายภาค ครัวเรือนภาคกลางมีหนี้ลดลงมากที่สุดคือ มีเพียง 35% ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่มี 45% ดังกล่าวข้างต้น ขณะที่อีก 3 ภาค คือ อีสาน มีครัวเรือนที่มีหนี้เป็นสัดส่วนสูงสุด 61% และสูงกว่าภาพรวม ขณะที่ภาคเหนือและใต้ มีสัดส่วนที่ 49 และ 42% ตามลำดับ แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

แม้สัดส่วนครัวเรือนมีหนี้จะลดลง แต่ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยภาระหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในปี 2563 มีหนี้ 163,930 บาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยหนี้ของครัวเรือนภาคกลางค่อนข้างทรงตัว คือมีภาระหนี้ที่ 162,484 บาท เพิ่ม ขึ้น 1% ขณะที่คนภาคอีสานแบกภาระหนี้เพิ่มสูงสุด คือมีหนี้ 180,277 บาทโตเพิ่มถึง 52% รองลงมาคือภาคเหนือที่ 29% (154,064 บาท) และภาคใต้ 18% (149,843 บาท)

ทีมนักวิจัยเจาะลึกถึงประเภทหนี้ของครัวเรือนในภูมิภาค พบว่าการก่อหนี้ของครัวเรือนในภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยภาคเหนือมีสัดส่วนหนี้กลุ่มนี้สูงสุดที่ 40.3% รองลงมาคือภาคใต้และอีสาน (38.9 และ 36.0% ตามลำดับ)

เมื่อดูข้อมูลหนี้ระดับจังหวัดพบว่า สุรินทร์มีสัดส่วนหนี้อุปโภคบริโภคสูงสุดถึง 56% ตามด้วยตรัง และกระบี่ (51 และ 48% ตามลำดับ) ขณะที่หนี้ระยะยาวเพื่อซื้อสินทรัพย์ (สินเชื่อที่อยู่อาศัย) มีสัด ส่วนค่อนข้างตํ่า โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีเพียง 18.9%

ครัวเรือนที่มีหนี้ในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังมีรายได้และรายจ่ายตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่กลับมีภาระหนี้ต่อครัวเรือนสูงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคอีสานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 20,626 บาท และภาคเหนือ 20,307 บาท (เทียบค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 26,069 บาท) แต่กลับมีปริมาณหนี้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 163,930 บาท

จากการวิจัยพบว่า สาเหตุหนึ่งมาจากครัวเรือนในภูมิภาค พึ่งพารายได้ที่ไม่แน่นอน อาทิ รายได้จากภาคเกษตร เงินโอนจากสมาชิกครอบครัว หรือเงินโอนภาครัฐ เป็นสัดส่วนสูงเกือบ 30% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้มีภาวะเสี่ยงขาดสภาพคล่องเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด และนำไปสู่การก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

เมื่อวิเคราะห์ครัวเรือนเปราะบางพบว่า ครัวเรือนเปราะบางสูงมีในภาคอีสาน(17%) กระจายในหลายจังหวัด คือ สุรินทร์ (32%) ศรีสะเกษ (30%) บุรีรัมย์(28%) สตูล (20%) กระบี่ (18%) โดยครัวเรือนเกษตรมีสัดส่วนเปราะบางสูงสุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในทุกภูมิภาค

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่กำลังทะยานเพิ่มจากเชื้อโควิด-19 อยู่ในลำดับ 17 ติดกลุ่มอันดับต้นของโลกมาจากปัญหาหนี้ในภูมิภาคเป็นหลัก จากภาระหนี้ที่หนักและเกิดจากมีรายได้ไม่พอจ่าย และเปราะบางสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ใต้ และภาคเหนือตามลำดับ จากที่พึ่งพารายได้ไม่แน่นอนเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งทีมวิจัยเสนอทางแก้ คือ ติดอาวุธให้ครัวเรือนเพิ่มรายได้แน่นอนมากขึ้น ตัดรายจ่ายสร้างวินัยทางการเงิน และเติมเงินออม สร้างแรงจูงใจเพิ่มการออมแต่วัยเริ่มทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงยามเกษียณ 

หน้า8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10-13  ตุลาคม พ.ศ.2564