สิทธิบัตรทอง ควรรู้ เกิดความเสียหายหลังการรักษาขอรับเงินช่วยเหลือได้ 

05 ธ.ค. 2566 | 20:15 น.

สปสช. แจ้งเตือนผู้มีสิทธิบัตรทอง หากใช้สิทธิรักษาพยาบาลแล้วได้รับความเสียหายไม่ใช่จากเหตุแทรกซ้อนของโรค ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 - 400,000 บาท คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

ผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือที่รู้จักเรียกกันสั้น ๆ ว่า บัตร 30 บาท นั้น บางคนอาจยังไม่ทราบว่า หากใช้สิทธิบัตรทองแล้วได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลซึ่งไม่ใช่เป็นพยาธิสภาพของโรค หรือ เหตุแทรกซ้อนของโรค มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือ ทายาท หรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการต้องยื่นคำร้องภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ประเภทและอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้น 

ประเภทที่ 1: เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร  240,000-400,000 บาท

ประเภทที่ 2: พิการหรือสูญเสียอวัยวะ 100,000-240,000 บาท

ประเภทที่ 3: บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท 

ทั้งนี้ สำหรับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ที่ไม่ใช่พยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค 

  • เงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่ใช่เงินชดเชย
  • บรรเทาความเดือดร้อน 
  • ลดความขัดแย้ง
  • ไม่พิสูจน์ถูกผิด 

ใครยื่นคำร้องได้บ้าง

ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือทายาท หรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริหารระยะเวลาภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย

สาระสำคัญในการเขียนคำร้อง

1. ชื่อ-นามสกุล ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย

2. ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล

3. ชื่อของหน่วยบริการที่ให้การรักษาพยาบาล

4. วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และวันที่ทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น

5. สถานที่ที่สามารถติดต่อผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายได้โดยสะดวก

6. ระบุภาระที่ผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบเศรษฐานะ

หลักฐานประกอบคำร้องของผู้ได้รับความเสียหาย

  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือสูติบัตร
  • หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมีการมอบอำนาจ)
  • เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงรายละเอียดข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา

สถานที่ยื่นคำร้อง

  • หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ในจังหวัดที่เกิดเหตุ) หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13
  • หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) "ศูนย์สิทธิบัตรทอง"
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 
  • สอบถามเพิ่มเติมที่ "สายด่วน สปสช.โทร1330" 

ข้อมูล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ