"ติ่งเนื้อที่คอ" อาการ-สาเหตุ เช็กวิธีรักษาแบบพื้นบ้าน-ทางการแพทย์

23 ต.ค. 2566 | 01:15 น.

"ติ่งเนื้อที่คอ" อาการ-สาเหตุ เช็กวิธีรักษาแบบพื้นบ้าน-ทางการแพทย์ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว ระบุตามปกติติ่งเนื้อไม่เป็นอันตราย และไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง

"ติ่งเนื้อที่คอ" อาการเป็นอย่างไร สาเหตุมาจากอะไร วิธีรักษายังไงกำลังเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจเป็นย่างมาก

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับ "ติ่งเนื้อที่คอ" พบว่า

อาการติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อที่เพิ่งขึ้นบนผิวหนัง จะเป็นก้อนเนื้อนุ่มมีขนาดเล็กนูนขึ้น และยื่นออกมาเป็นติ่ง และจะค่อย ๆ กลายเป็นสีเดียวกับผิวหนัง โดยไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่อาจรู้สึกระคายเคืองบ้างหากเสียดสีกับเสื้อผ้า หรือถ้าก้านที่ยึดติ่งเนื้อถูกบิด อาจเกิดลิ่มเลือดภายในติ่งเนื้อและรู้สึกเจ็บได้

โดยปกติแล้ว ติ่งเนื้อไม่เป็นอันตราย และไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่เกินไป หรือโตเร็วผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นติ่งเนื้อธรรมดา หรือเป็น “เนื้องอกที่เป็นอันตราย”

โดยหากติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่เกินไป แพทย์อาจจะทำการตัดติ่งเนื้อออกเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ก็จะเสียดสีเวลาใส่เสื้อผ้าทำให้รู้สึกเจ็บจนอาจเกิดแผลขึ้นได้ 

ติ่งเนื้อที่พบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ มักเกิดขึ้นตามลำคอ แม้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่บางคนอาจรู้สึกว่าติ่งเนื้อที่คอทำให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียนสวยงาม และเกิดความไม่มั่นใจตามมา

สาเหตุการเกิดติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตเซลล์พิเศษขึ้นในผิวหนังชั้นบนสุด กลไกการเกิดโรคติ่งเนื้อผิวหนัง ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่มักพบติ่งเนื้อเกิดในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีต่อเนื่องกับผิวหนังด้วยกัน (เช่น ผิวหนังส่วนที่มีรอยย่นต่างๆ) หรือกับเสื้อ ผ้า เครื่องประดับ (เช่น ที่ลำคอ)

นอกจากนี้ การศึกษาทางสถิติยังพบว่า โรคติ่งเนื้อผิวหนัง มีความสัมพันธ์กับ

  • ความอ้วน ผู้ที่ประสบภาวะอ้วน จะป่วยเป็นโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) โดยโรคนี้จะเกิดติ่งเนื้อจำนวนมากตามผิวหนังบริเวณคอและรักแร้
  • ภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะนี้คือภาวะที่นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะน้ำตาลผิดปกติ (Prediabetes) โดยภาวะดื้ออินซูลินอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อ เนื่องจากร่างกายดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดได้ไม่ดี ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่าติ่งเนื้อเกี่ยวเนื่องกับดัชนีมวลกายที่มาก ภาวะไตรกลีเซอร์ไรด์สูง และภาวะดื้ออินซูลิน
  • โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
  • การตั้งครรภ์ โดยอาจเกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์
  • คนในครอบครัวมีติ่งเนื้อ อาจเกิดการถ่ายทอดลักษณะเหล่านี้ทางพันธุกรรม

วิธีรักษา

การกำจัดติ่งเนื้อสามารถทำได้เอง มีวิธีพื้นบ้านที่สามารถกำจัดติ่งเนื้อได้ ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  • ใช้กระเทียม นำมาบดแล้วทาบริเวณที่เกิดติ่งเนื้อให้ทั่ว จากนั้นปิดผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน และล้างออกในตอนเช้า ทำซ้ำจนกว่าติ่งเนื้อจะหายไป
  • น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์ (Apple cider vinegar) นำสำลีชุบน้ำส้มสายชูแอปเปิ้ลไซเดอร์มาแปะบริเวณที่เกิดติ่งเนื้อประมาณ 15–30 นาที แล้วล้างออก ทำซ้ำทุกวันประมาณ 2–3 สัปดาห์
  • ใช้ขิงฝานบางๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่มีติ่งเนื้อ โดยทำต่อเนื่องประมาณ 5 นาที สามารถทำได้ทุกวัน เห็นผลลัพธ์ภายใน 2 สัปดาห์
  • น้ำมะนาว ให้นำน้ำมะนาวมาทาตรงที่มีติ่งเนื้อขึ้นมา จะทำให้ติ่งเนื้อค่อยๆ แห้งและหลุดออกไปในที่สุด ให้ทำต่อเนื่องเป็นประจำเช้าเย็นแล้วจะได้ผลเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากรักษาติ่งเนื้อด้วยตัวเองไม่ได้ผล อาจลองปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อกำจัดติ่งเนื้อออกด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาทาเฉพาะที่สำหรับรักษาติ่งเนื้อ เช่น ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) หรือ รักษาด้วยการทำหัตการ ดังนี้

  • การจี้ติ่งเนื้อด้วยไฟฟ้า การจี้ด้วยไฟฟ้าจะเป็นการใช้ความร้อนในการกำจัดติ่งเนื้อ โดยความร้อนจะทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณผิวหนังและทำให้ติ่งเนื้อหลุดออกไป การรักษาติ่งเนื้อด้วยวิธีนี้มักไม่ทำให้เกิดเลือดออก แต่อาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างการรรักษา
  • การรักษาด้วยความเย็นจัด วิธีการนี้แพทย์จะทำการฉีดพ่นไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็นจัดในปริมาณเล็กน้อยลงบนผิวหนังที่เกิดติ่งเนื้อ เพื่อใช้ความเย็นในการยับยั้งการเจริญเติบโตของผิวหนังที่เกิดติ่งเนื้อ และทำให้ติ่งเนื้อหลุดออกไปเอง โดยวิธีการนี้อาจจำเป็นต้องทำซ้ำจนกว่าติ่งเนื้อจะหลุดออกไปจนหมด
  • การตัดด้วยกรรไกรทางการแพทย์ วิธีการนี้แพทย์จะใช้มีดหรือกรรไกรทางการแพทย์ในการตัดติ่งเนื้ออกไป โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการกำจัดติ่งเนื้อขนาดเล็กที่ห้อยย้อยออกมาจากผิวหนัง วิธีการตัดติ่งเนื้อออกมักจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจทำให้มีเลือดออกเล็กน้อย ในบางกรณี แพทย์อาจจำเป็นต้องเย็บแผลหรือใช้ผ้าพันแผล แต่ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของติ่งเนื้อที่ตัดออกไป