ต่างชาติแห่ใช้บริการ "ผลิตลูก" เวียดนาม-อินโด เสียบชิงตลาด 6 หมื่นล้าน

01 ต.ค. 2566 | 11:59 น.

ท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากแข่งดุ ไทยลุ้นทัวริสต์จีนแห่ใช้บริการ IVF เพิ่ม หลังมาตรการวีซ่าฟรีเริ่มมีผลใช้ จับตา “เวียดนาม-อินโดนีเซีย” ประกาศแผนเดินหน้าเมดิคัล ทัวริสซึม หวังดึงต่างชาติเข้าประเทศ

ไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) โดยมีฐานลูกค้าสำคัญคือนักท่องเที่ยวจีน ที่นิยมมาใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผนวกเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว ทำให้ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากอาจไม่คึกคักเท่าที่ควร แม้รัฐบาลจะมีมาตรการ “วีซ่าฟรี” หวังดึงให้คนจีนเข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการมากขึ้น แต่ก็ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียที่อาจทำให้ไทยเสียลูกค้าไป

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 22 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประมาณ 6-8% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเพียง 2.2 ล้านคนเท่านั้น มาตรการฟรีวีซ่าจีนอาจจะช่วยเมดิคัล ทัวริซึม ได้บ้างแต่ไม่มาก ด้วยระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ ชะลอความแก่, ศัลยกรรมตกแต่ง และบริการมีบุตรยาก เช่น เด็กหลอดแก้ว (IVF) เนื่องจากคนจีนต้องการเลือกเพศ และ IVF ในเมืองจีนมีไม่กี่แห่ง ทำให้คิวยาว บางส่วนจึงเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย

แต่ตอนนี้จีนจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศดังนั้นการใช้บริการศูนย์ IVF ในไทยปีนี้ไม่หนาแน่นแน่นอน ส่วนลูกค้าคนไทยส่วนมากจะใช้บริการเก็บไข่เพราะคนแต่งงานช้าลงและปีนี้จะเป็นปีแรกที่เด็กแรกเกิดไทยจะต่ำกว่า 5 แสนคนและประชากรคนไทยอาจจะลดเหลือแค่ 50 กว่าล้านคนในอนาคตอันใกล้

ต่างชาติแห่ใช้บริการ \"ผลิตลูก\" เวียดนาม-อินโด เสียบชิงตลาด 6 หมื่นล้าน

ด้านนพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE กล่าวว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมรักษาการมีบัตรยากมีการเติบโตสูงมากในปีที่ผ่านมา มีการประมาณการณ์ใช้จ่ายราว 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปี 2570 มูลค่าการใช่จ่ายจะขึ้นไปแตะ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2575 ในส่วนของประเทศไทยมีการประมาณการกันว่าปีใน 2570 ค่าใช้จ่ายในการดูแลเรื่องของมีบุตรยากจะเติบโตไปถึง 6 หมื่นล้านบาท

ประเทศไทยถือเป็นเดสทิเนชั่นเติมเต็มความฝันของผู้มีบุตรยากจากภูมิภาคเอเชีย และจากทั่วโลก เนื่องจากมีความได้เปรียบในหลายประการ อาทิ มาตรฐานการรักษา ความสะอาดและความปลอดภัยจากโควิด -19 การเชื่อมต่อดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ฯลฯ รวมถึงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 เป็นต้น รวมถึงการมีนโยบายที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและดึงดูดชาวต่างชาติ อาทิ นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยสามารถอยู่อาศัยได้นานถึง 90 วัน รวมถึงค่ารักษาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ภายใต้มาตรฐานระดับเดียวกัน ฯลฯ

“เหตุผลที่ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการในไทยหลักๆมี 3 ประเด็นคือ 1. เมืองไทยเรามีอัตราความสำเร็จสูงเพราะเป้าหมายของการมาทำ IVF คือได้ลูกกลับบ้านและลูกแข็งแรง เพราะฉะนั้นต่างชาติจะมองเรื่องของความสำเร็จและความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยค่าเฉลี่ยสูงกว่าประเทศอื่นๆรอบๆเรา 2. การบริการที่ดี และอบอุ่น 3. ราคาไม่สูงมากนัก”

ในส่วนของ “เซฟ เฟอร์ทิลิตี้” ปัจจุบันให้บริการคนไข้คนไทยและต่างชาติสัดส่วน 50 : 50 คนไข้ต่างชาติ ปัจจุบันเป็นกลุ่ม CLMV เป็นหลักรวมทั้ง อินเดียและญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนจีนที่เคยเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงเพราะรัฐบาลยังจีนไม่ค่อยส่งเสริมให้คนจีนออกนอกประเทศ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเองยังไม่ค่อยดีนัก ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าจีนในไทยหรืออเมริกาเข้ามาใช้บริการ ทำให้เห็นการรีคัฟเวอร์จากฐานเดิมเพียง 30% เท่านั้น แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะช่วงปลายปีอาจจะเยอะมากขึ้น ส่วนฟรีวีซ่าเองมีส่วนช่วยทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่ใช่อุตสาหกรรมรักษาการมีบุตรยากเท่านั้นแต่รวมไปถึง เมดิคัล ทัวริซึม ของไทยที่กำลังมีคู่แข่งใกล้บ้านทั้งเวียดนามที่เพิ่งประกาศว่าจะขับเคลื่อนประเทศเป็น เมดิคัล ทัวริซึม และอินโดนีเซียเองก็มีความพยายามจะประกาศจุดยืน เมดิคัล ทัวริซึม เช่นกันเพราะฉะนั้นไทยอาจเสียลูกค้ากลุ่มอินโดนีเซีย เวียดนาม และลูกค้าที่อยู่รอบๆประเทศนั้น แต่รัฐบาลไทยเองก็พยายามที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

ด้านนายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ“GFC” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทยจะเติบโตปีละ 14% แต่สำหรับปีนี้ภาพรวมที่เห็นคือเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามา

แต่ไม่ใช่ปริมาณที่เทียบเท่ากับก่อนช่วงโควิด สำหรับ GFC ที่ผ่านมายังไม่เคยมีคนไข้กลุ่มนี้เข้ามา แต่ได้รับการติดต่อส่งเคสมีบุตรยากให้บริษัทดูแลแต่เนื่องจากสถานไม่เอื้ออำนวยเราจึงต้องปฏิเสธดีลไป แต่ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้ไปทำโรดโชว์ที่ประเทศจีน เพราะกำลังจะเปิดสาขาใหม่และมองว่าจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจ

ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันในประเทศ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีศูนย์ IVF เกิดขึ้นจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลใหญ่ก็สนใจทำให้เซ็กเตอร์นี้เกิดขึ้นมา แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไข้เท่าไรนัก เนื่องด้วยบุคลากรและความพร้อมของตัวโรงพยาบาลเองที่จะโฟกัสจุดนี้ยังไม่ดีพอ คนไข้จะนิยมใช้บริการในคลินิกเฉพาะทางมากกว่าไปที่โรงพยาบาล

เพราะมีความเชื่อว่าประสบการณ์หรือความเฉพาะทางจะช่วยให้ผลการรักษาดีกว่าและเป็นเทรนด์ เช่นในต่างประเทศจะเห็นว่ากลุ่มที่ให้บริการเฉพาะทางที่แยกตัวออกมาจากศูนย์รวมบุคลากรหรือทีมงานจะทำได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นในส่วนของคลินิกจะได้รับความนิยมสูงมากกว่าโรงพยาบาลมาก