"ไข้เลือดออก" ไทยป่วยพุ่ง 5.4 เท่า สธ.เร่งตั้งศูนย์บัญชาการสกัด

26 พ.ค. 2566 | 09:11 น.

"ไข้เลือดออก" ไทยป่วยพุ่ง 5.4 เท่า สธ.เร่งตั้งศูนย์บัญชาการสกัด เผยมีผู้เสียชีวิตยืนยันแล้วถึง 13 ราย ระบุพื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งข้อมูลจากรายงานในปี 2566 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่ 19 ของปี พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 15,399 ราย มากกว่าปี 2565 ที่พบผู้ป่วย 2,942 ราย  มากกว่าถึง 5.4 เท่า  

อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันแล้วถึง 13 ราย โดยพื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ  

และเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค จะมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และดำเนินการไปพร้อมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ระบาด เพื่อระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากส่วนอื่นๆ เข้ามาจัดการป้องกันควบคุมโรคให้เกิดประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด

โดยกรมควบคุมโรคจะทำงานร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกำกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าล้านคน เร่งรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย  

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ พบว่า วัดยังเป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำสูงสุด 64.6% รองลงมาคือโรงเรียน 55.1% สถานที่ราชการและโรงงานพบมากเป็นลำดับถัดมา 

นายแพทย์ธเรศ กล่าวอีกว่า วัดเป็นสถานที่มีประชาชนเข้ามาทำบุญมากมาย อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคเป็นอย่างมาก และโรงเรียนคือสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กนักเรียนกลุ่มวัย 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจากสถิติเป็นกลุ่มที่มีรายงานการป่วยมากที่สุด 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้คือเข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงสุด สืบเนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมา จะไปเพิ่มปริมาณแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานที่ต่างๆ มากขึ้น 

การป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีมาตรการทั้งในมิติของคน เชื้อโรค ยุงพาหะ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้หลายวิธีการร่วมกัน เช่น การลดแหล่งเพาะพันธุ์โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม การกำจัดลูกน้ำยุง การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

สำหรับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคไข้เลือดออก มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยให้ไม่เกินค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือนมิถุนายนและตลอดช่วงฤดูฝน (มิ.ย.-ส.ค.) และลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกิน 0.10% ในปี 2566 โดยใช้กลยุทธ์การติดตามกำกับและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกจังหวัดของประเทศไทย 

สอบสวนแหล่งแพร่โรคและควบคุมโรคในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออกด้วยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย กำหนดให้มีภารกิจด้านต่างๆ คาดหวังให้มีการขับเคลื่อนระบบการจัดการทั้งด้านบนและในฐานพื้นที่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด