มันมากับ “ความเหงา” เสี่ยงถึงตาย ร้ายพอๆกับบุหรี่  

11 พ.ค. 2566 | 04:12 น.

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันชี้ ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา เป็นผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เสี่ยงเสียชีวิตได้พอๆ กับการสูบบุหรี่

 

นพ.วิเวก เมอร์ธี แพทย์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา กล่าวในการแถลงเกี่ยวกับ “การแพร่ระบาดใหญ่ของ ความเหงา ความอ้างว้างโดดเดี่ยว” (the epidemic of loneliness and isolation) ครั้งล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ความอ้างว้างโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา สามารถส่งผลกระทบและก่อให้เกิด ความเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้พอ ๆ กับการสูบบุหรี่วันละ 12 มวน และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิด ความเสียหายด้านสุขภาพ ในสหรัฐปีละหลายพันล้านดอลลาร์อีกด้วย

นายแพทย์เมอร์ธี กล่าวว่า ราวครึ่งหนึ่งของประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐ ยอมรับว่าตนเคยรู้สึก อ้างว้าง เหงา เดียวดาย  “เราทราบกันดีว่าความอ้างว้างโดดเดี่ยวเป็นความรู้สึกที่ใครหลาย ๆ คนต้องเคยประสบมาก่อน เหมือน ๆ กับความหิวหรือความกระหาย มันเป็นความรู้สึกที่ร่างกายส่งถึงเราเมื่อสิ่งที่จำเป็นต่อความอยู่รอดได้ขาดหายไป”

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงด้านสุขภาพจิตของสหรัฐผู้นี้ กล่าวว่า ผู้คนหลายล้านคนในสหรัฐกำลังดิ้นรนอยู่ในเงามืด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่เขาต้องเผยแพร่ข้อแนะนำนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่หลาย ๆ คนกำลังประสบอยู่

ความอ้างว้างโดดเดี่ยวสามารถส่งผลกระทบ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้พอ ๆ กับการสูบบุหรี่วันละ 12 มวน

ทั้งนี้ การแถลงดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเหงา แต่จะไม่มีการปลดล็อกเงินทุนหรือโครงการของรัฐบาลกลางที่อุทิศให้กับการต่อสู้กับปัญหานี้

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันซึ่งมีส่วนร่วมกับสถานประกอบพิธีการทางศาสนา องค์กรในชุมชนต่าง ๆ และแม้แต่กับสมาชิกในครอบครัวของตนเอง น้อยลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา  ยอมรับว่า พวกเขามีความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนครอบครัวแบบเดี่ยวเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา

แต่วิกฤตนี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนและที่ทำงานต้องปิดลงชั่วคราว และชาวอเมริกันหลายล้านคนต้องแยกตัวห่างจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงของตัวเอง

นอกจากนี้ รายงานของนายแพทย์ใหญ่วิเวก เมอร์ธี ยังระบุว่า ผู้คนคัดสรรกลุ่มเพื่อนในระหว่างการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส และลดเวลาที่ใช้กับเพื่อนเหล่านั้นลง โดยชาวอเมริกันใช้เวลากับเพื่อน ๆ ประมาณวันละ 20 นาทีในปี 2563 ซึ่งลดลงจากวันละ 60 นาทีเมื่อเกือบสองทศวรรษก่อนหน้านั้น

ขณะเดียวกัน ความเหงาก็กำลังระบาดหนักโดยเฉพาะในหมู่เยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีรายงานว่า คนกลุ่มอายุนี้ใช้เวลากับเพื่อนลดลง 70% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เหงาแค่ไหนทำให้ถึงตาย

ความอ้างว้างโดดเดี่ยวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกือบ 30% โดยรายงานเปิดเผยว่า กลุ่มคนที่เข้าสังคมไม่ได้ มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ นอกจากนี้ ความโดดเดี่ยวยังทำให้มีโอกาสประสบภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย

นายแพทย์วิเวก เมอร์ธี เรียกร้องให้บรรดาสถานที่ทำงาน โรงเรียน บริษัทเทคโนโลยี องค์กรชุมชน ผู้ปกครอง และบุคคลอื่น ๆ ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของผู้คนในประเทศ

เขาแนะให้ผู้คนเข้าร่วมกลุ่มชุมชนและวางโทรศัพท์มือถือลงเวลาที่พูดคุยกับเพื่อน ๆ บรรดานายจ้างต้องคิดอย่างรอบคอบเกี่ยวกับนโยบายการทำงานจากระยะไกล และระบบสาธารณสุขควรมีการฝึกอบรมแพทย์ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากความเหงาด้วย

เทคโนโลยีกับความเหงา

เทคโนโลยีกับความเหงา

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสามารถเป็นตัวเร่งทำให้ปัญหาความเหงารุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่อ้างถึงรายงานที่พบว่า ผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไปทุก ๆ วันมีแนวโน้มที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากกว่าผู้ที่ใช้แอปฯ เหล่านั้นน้อยกว่า 30 นาทีต่อวันถึงสองเท่า

นายแพทย์เมอร์ธีอธิบายว่า โซเชียลมีเดียคือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเหงามากขึ้น รายงานของเขาชี้ให้เห็นด้วยว่า บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มใช้มาตรการป้องกันสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในเรื่องพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และว่า “ไม่มีอะไรมาแทนที่การมีปฏิสัมพันธ์แบบเจอตัวได้จริงๆ ”

“การที่เราเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกันมากขึ้น ทำให้สูญเสียการมีปฏิสัมพันธ์แบบเจอตัวกันจริงๆไปได้ ดังนั้น เราควรออกแบบเทคโนโลยีที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ของเราให้แน่นแฟ้นแทนที่จะทำให้ความสัมพันธ์อ่อนแอลง”นายแพทย์เมอร์ธีให้แง่คิด

 

ข้อมูลอ้างอิง