ปักหมุด“จุดฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น” ทั่วกทม.รับมือหลังสงกรานต์

18 เม.ย. 2566 | 17:30 น.

กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและแนะนำประชาชนให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น ตามจุดให้บริการฟรีที่จัดเตรียมไว้ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดหลังเทศกาลสงกรานต์

 

สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ช่วง หลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากมีประชาชนเดินทาง และเข้าร่วมกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก อาจมีบางรายมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดศีรษะ ควรตระหนักว่าอาจจะ ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ดังนั้น ผู้มีอาการควรตรวจ ATK ทุกราย หากมีผลบวก ให้เข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ และ/หรือมีโรคประจำตัว

พร้อมกันนี้ ยังแนะนำประชาชนให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น โดยประชาชนทั่วไปกระตุ้นวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ส่วนกลุ่ม 608 ปีละ 2 ครั้ง (กลุ่ม 608 คือ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์)

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น ล่าสุด (วันที่ 18 เม.ย.) มีคำแนะนำ ดังนี้

  • สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม ให้ไปรับบริการฉีดวัคซีนได้ ทั้งที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส. 69 แห่ง) โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 11 แห่ง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ ตามวันและเวลาที่แต่ละแห่งให้บริการ
  • ส่วนกรณีประชาชนทั่วไป ได้มีคำแนะนำใหม่ จากที่ก่อนหน้านี้ให้ฉีดกระตุ้นหลังเข็มล่าสุด 4 เดือน ปรับเป็นฉีดปีละ 1 ครั้ง โดยอาจจะเริ่มฉีดในช่วงนี้หรือเดือนพฤษภาคม 2566 ร่วมกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีการนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ส่วนในกรณีผู้มีความเสี่ยง 608 ควรจะฉีดปีละ 2 ครั้ง โดยกรุงเทพมหานครได้มีการสำรองทั้งยาและวัคซีนไว้อย่างเพียงพอ

ประชาชนสามารถรับวัคซีนได้ที่จุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สังกัดกทม. โดยเข้ารับบริการแบบ Walk in หรือจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ดังนี้

  • ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง ทุกวันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 13.00-15.00 น.
  • โรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง ได้แก่
  1. โรงพยาบาลกลาง: ชั้น 3 ห้องตรวจส่งเสริมสุขภาพ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น.
  2. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์: อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 1 วันจันทร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.00-15.00 น.
  3. โรงพยาบาลสิรินธร: ห้องประชุมคุณหญิงหรั่ง กันตารัติ ชั้น 2 วันศุกร์ เวลา 13.00-15.00 น./ วันเสาร์ เวลา 08.00-12.00 น. (สำหรับผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) และเวลา 13.00-15.00 น. (สำหรับผู้มีอายุ 5-11 ปี)
  4. โรงพยาบาลตากสิน: งานอนามัยชุมชน ชั้น 2 วันจันทร์และวันศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น.
  5. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์: คลินิกวัคซีน ห้องหัตถการ ชั้น 2 วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-14.00 น.
  6. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน: ห้องตรวจอายุรกรรม ชั้น 2 วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 13.00-15.00 น.
  7. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ: ห้องตรวจประกันสังคม (สำหรับผู้มีอายุ 5 ปีขึ้นไป) วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 13.00-15.30 น.อาคารอเนกประสงค์ชั้น 1 (สำหรับผู้มีอายุ 6 เดือน-5 ปี) วันพฤหัสบดี เวลา 13.00-15.30 น.
  8. โรงพยาบาลคลองสามวา: อาคารผู้ป่วยนอก วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 13.00-14.00 น.
  9. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์: ห้องประกันสังคม ชั้น 2 วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00-12.00 น. ศูนย์สุขภาพ (คลอง 10) วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-12.00 น.
  10. โรงพยาบาลบางนา กรุงเทพมหานคร: จุดฉีดวัคซีน อาคารผู้ป่วยนอกชั้น 1 วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น.
  11. โรงพยาบาลลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร:  จุดฉีดวัคซีน อาคารอำนวยการชั่วคราว วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-14.00 น.

รวมทั้งโรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ ตามวัน-เวลาที่แต่ละแห่งให้บริการ

 

การรักษาตามสิทธิ เมื่อติดโควิด-19

สำหรับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถรับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ ดังนี้

  1. บัตรทอง: สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้/ หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข, คลินิกชุมชนอบอุ่น, หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่
  2. ประกันสังคม: สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมตามสิทธิ
  3. ข้าราชการ: สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สถานพยาบาลตามสิทธิ หรือกรณีฉุกเฉิน สามารถโทรสายด่วน 1669

ติดเชื้อโควิด รับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ

ที่มา:  กรุงเทพมหานคร