THG ผนึก รพ.เครือข่าย-สตาร์ทอัพ สยายปีกรุกเฮลท์แคร์

27 มี.ค. 2566 | 10:07 น.

“ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” เปิดแนวรบปี 66 ชูกลยุทธ์ Digital Health Tech ซินเนอร์ยีรพ.เครือข่าย สตาร์ทอัพ เจาะ 3 กลุ่มลูกค้า “B2C-B2B-B2G” เผยแผน 3 ปี ใช้เงิน 5,000 ล้านขยายลงทุนเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ รองรับตลาด Wellness & Aging Society

นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้ THG วางกลยุทธ์มุ่งผนึกความร่วมมือกับโรงพยาบาลเครือข่ายและสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพสร้างโอกาสเชื่อมต่อฐานลูกค้าทุกช่วงวัยผ่านการรักษาพยาบาลและบริการในโรงพยาบาล (On site) และการให้บริการด้วย Digital Health tech ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสอดรับเทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมองหาเฮลท์แคร์ที่มีคุณภาพ โดยตั้งเป้าครอบคลุม 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่ม B2C โดยนำ Digital Health Tech มาเพิ่มความสะดวกในการตรวจรักษาและบริการ ควบคู่ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นจุดขายหลัก เช่น การให้บริการผ่านระบบ Telemedicine อาทิ การสื่อสารแบบ D2D หรือ Doctor to Doctor ระหว่างแพทย์แต่ละ รพ. เป็นต้น

THG ผนึก รพ.เครือข่าย-สตาร์ทอัพ สยายปีกรุกเฮลท์แคร์

2. กลุ่ม B2B มองหาโอกาสจากหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการด้านการแพทย์ให้พนักงาน รวมถึงจับมือกลุ่มบริษัทประกัน กลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการพาร์ทเนอร์ โดย THG ได้จัดตั้ง บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด รับผิดชอบดูแลธุรกิจเทเลเมดิซีนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะเพื่อให้บริการกับกลุ่มลูกค้า B2B

3. กลุ่ม B2G โดย THG จะมุ่งขยายการให้บริการกับภาครัฐ ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (PPP) ให้มากขึ้นในปีนี้ เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ซึ่งปัจจุบัน THG รับผลิตชอบดูแลธุรกิจบริหารศูนย์หัวใจ ภายใช้ชื่อ บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด 3 แห่ง

ได้แก่ รพ.ธนบุรี 2 ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ และ รพ.พัทลุง และบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต และล่าสุด “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด” ในเครือ THG ก็เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด Horizon Rehab Center ด้วย

“ปัจจุบันรายได้หลักธุรกิจเฮลท์แคร์มาจากการตรวจรักษาแบบ On site แต่จาก Database พบว่าค่าเฉลี่ยผู้ป่วยโรคทั่วไปจะเข้าโรงพยาบาลลดลงจาก 4-6 ครั้งต่อปี เหลือ 2-3 ครั้งต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนมี Health Literacy มากขึ้น Online จึงถูกใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล นัดหมายก่อนตรวจรักษา รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาล

ดังนั้นแนวโน้ม Digital Health Tech จึงสำคัญมากต่ออนาคต THG เพราะธุรกิจเฮลท์แคร์ยุคต่อไปต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นส่วนเสริมของปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื่อมต่อฐานลูกค้า สร้างรายได้และสร้างแบรนด์ ซึ่งภายใน 5 ปีจากนี้ รพ.ใดปรับตัวได้ก่อนก็จะได้เปรียบ”

THG ผนึก รพ.เครือข่าย-สตาร์ทอัพ สยายปีกรุกเฮลท์แคร์

นายแพทย์ธนาธิป กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของกลยุทธ์การดำเนินงานคือ ต้องเร่งสร้างการซินเนอร์ยีภายในและภายนอกองค์กร โดยภายในองค์กร แบ่งออก 2 ส่วน คือ 1.“บุคลากร” ต้องมีทักษะความเข้าใจ Digital & Innovation เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดทำโครงการ THG Common Room และโครงการ หลงจู๊ Next ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และสร้างแรงจูงใจดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงาน

2.“บริการ” ผนึกความร่วมมือ รพ.เครือข่ายทั่วประเทศ พัฒนา Digital Health Tech อาทิ สร้างการสื่อสาร D2D หรือ Doctor to Doctor ระหว่างแพทย์แต่ละโรงพยาบาลด้วยเทเลเมดิซีน ซึ่งเริ่มทดลองใช้จริงแล้วระหว่างกลุ่มโรงพยาบาลกทม. และภาคใต้ รวมถึงโรงพยาบาลในเมียนมา

ขณะที่การซินเนอร์ยีภายนอกองค์กร จะเป็นการจับมือกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ อาทิ นักพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที นักพัฒนาแอปพลิเคชัน กลุ่มบริษัทประกัน ฯลฯ ซึ่งมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา อาทิ ARJARN MORE แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์แพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้ารับคำปรึกษาและการออกแบบแผนการรักษาส่วนบุคคลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจาก Tumor board (ทีมสหวิชาชีพฯ) iClaim แพลตฟอร์มช่วยเพิ่มความสะดวกด้านการเคลมประกัน ฯลฯ และ THG ยังคงเปิดกว้างในการรับไอเดียใหม่จากผู้ที่สนใจเข้ามาพัฒนาร่วมกัน

THG ผนึก รพ.เครือข่าย-สตาร์ทอัพ สยายปีกรุกเฮลท์แคร์

ด้านแผนการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศ THG ยังเดินหน้าต่อเนื่องทั้งในส่วนที่บริษัทลงทุนเอง อาทิ รพ.ธนบุรี รังสิต อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดทำรายงาน EIA และในส่วนที่บริษัทลูกเป็นผู้ลงทุนซึ่ง THG จะเข้าไปร่วมกำกับดูแลเชิงนโยบายให้ซินเนอร์ยีกับแผนธุรกิจหลัก อาทิ การสร้างศูนย์มะเร็ง

พร้อมศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัดและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรที่ปิ่นเกล้า การขยายธุรกิจด้าน Wellness ของ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์ และ ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ รองรับการเติบโตของตลาด Aging Society เป็นต้น

ส่วนในต่างประเทศ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีจำนวนประชากรสูงกว่า 100 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับไทยได้ภายใน 10 ปี ด้วยกลุ่มคนชั้นกลางกำลังซื้อสูงจำนวนมากที่มองหาเฮลท์แคร์ที่มีคุณภาพ

THG ผนึก รพ.เครือข่าย-สตาร์ทอัพ สยายปีกรุกเฮลท์แคร์

นอกจากนี้ THG ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในมิติต่างๆ โดยได้พัฒนาเฮลท์แคร์รูปแบบใหม่ที่ช่วยให้คนทุกช่วงวัยเข้าถึง Health and Digital literacy อาทิ Gudi..Good แอปพลิเคชันเกมส์สำหรับเด็ก รายการ “ถามหมอ กับ THG” ที่นำแพทย์มาตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพแบบทันกระแส อาทิ เจาะลึกโรคมะเร็งในกลุ่มผู้มีอายุน้อย หรือ มะเร็งกับพันธุกรรม ทาง Facebook Thonburi Healthcare Group เป็นต้น และยังมีหลายส่วนที่จะทยอยเพิ่มเติมออกมาอย่างต่อเนื่อง

“การรุกขยายการลงทุนต่อเนื่อง เชื่อว่าจะช่วยสร้างการเติบโตในปีนี้ไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 11,540 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,677 ล้านบาท” นายแพทย์ธนาธิป กล่าวในตอนท้าย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,872 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2566