กมธ.สธ.แนะคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ถูกกฎหมายยกระดับเทียบสากลลดการตาย

14 มี.ค. 2566 | 10:55 น.

กมธ.สธ.แนะคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ถูกกฎหมายยกระดับเทียบสากลลดการตาย ระบุลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้กว่า 3.1 หมื่นล้านบาท และบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ยาสูบชาติ

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. เชียงรายและโฆษกคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงถึงการเผยแพร่รายงานคณะอนุฯ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าว่า คณะอนุฯ เห็นว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาสูบและลดอัตราการสูบบุหรี่ของไทยให้เร็วที่สุด แต่ติดปัญหาที่แนวทางการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันของไทยยังขาดประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ คณะอนุฯ จึงเห็นว่ารัฐควรพิจารณานำหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) เข้ามาใช้สนับสนุนควบคู่กับนโยบายการควบคุมยาสูบในปัจจุบัน โดยยกเลิกการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้วนำมาควบคุมให้ถูกต้อง 

ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วและหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำทั่วโลก เช่น องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา สำนักงานพัฒนาสุขภาพ ประเทศอังกฤษ สถาบันวิจัยโรคมะเร็ง ประเทศอังกฤษ หรือรัฐบาลนิวซีแลนด์ กรีซ และอีกหลายประเทศให้การยอมรับและนำมาเป็นแนวทางช่วยลดอันตรายให้กับผู้บริโภคยาสูบมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้นประมาณ 9.9 ล้านคน หรือประมาณ 17.4% และมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ของไทยไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีจำนวนผู้สูบบุหรี่อยู่ที่ 10.8 ล้านคน 

กมธ.สธ.แนะคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายยกระดับเทียบสากล อีกทั้งการแบน "บุหรี่ไฟฟ้า" ยังทำให้เด็กละเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายเพราะขาดการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอายุขั้นต่ำ การจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม และการซื้อขายใต้ดินที่ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ

สำหรับการยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้น ทำได้ไม่ยาก สามารถทำได้เลย เพราะปัจจุบันเราควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายได้ตามกฎหมายที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 

แต่ที่ยังติดขัดมีเสียงคัดค้านอยู่เพราะว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งของผู้กำหนดนโยบายที่เป็นเอ็นจีโอรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งรัฐควรทบทวนการตำแหน่งของกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิบางราย

“ผู้ทรงคุณวุฒิบางรายที่มีบทบาททับซ้อนไปร่วมคณะผู้แทนไทยในการประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ไปนำเสนอนโยบายและเห็นชอบเอกสารต่างๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งที่ควรจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เป็นต้น"

นายแพทย์เอกภพ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรมีการทบทวนองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยก่อนการไปเข้าร่วมประชุมภาคีสมาชิกครั้งที่ 10 (COP10) ที่ประเทศปานามาด้วย ประเทศไทยจะได้มีโอกาสในการยกระดับมาตรการควบคุมยาสูบให้ทัดเทียมนานาชาติ แทนที่จะติดหล่มอยู่กับแนวคิดเดิม

การจัดทำรายงานฉบับดังกล่าวนี้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติทั้งด้านการสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การบังคับใช้กฎหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวม (net benefit) ทั้งต่อผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และการปกป้องเด็กและเยาวชน 

จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 รายที่เป็นตัวแทนของ 30 กลุ่ม/หน่วยงานทั้งที่เป็นฝ่ายสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางเลือก และฝ่ายที่ต่อต้านการสูบบุหรี่ อาทิ ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้แทนคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ แพทย์จากราชวิทยาลัยแพทย์ สสส. 

หน่วยงานราชการ เช่น กรมควบคุมโรค กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร การยาสูบแห่งประเทศไทย กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และยังได้เชิญตัวแทนจาก UK Office for Health Improvement and Disparities (OHID) หรือ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ มาเข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูลเชิงวิชาการ

ซึ่งทำให้เนื้อหาและข้อสรุปของรายงานนี้มีความเป็นกลาง รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้นโยบายด้านการควบคุมบุหรี่ของบ้านเรามีการพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งหากมีรัฐบาลใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำงานต่อ ก็จะฝากให้พิจารณานำข้อเสนอแนะจากรายงานนี้ไปใช้ได้ทันทีโดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะลดการเสียชีวิตได้ประมาณ 21,400 คนและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้กว่า 31,100 ล้านบาทรวมทั้งสร้างรายได้ภาษีสรรพสามิตอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทย 

ขณะนี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้มีหนังสือนำส่งรายงานฉบับดังกล่าวไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้วและเป็นที่สังเกตว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเพียง 30 กว่าประเทศที่ยังมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและประเทศเหล่านี้เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ต่างประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าและใช้บุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน