อาการโรคซึมเศร้า สาเหตุ และ วิธีการรักษา

13 เม.ย. 2567 | 04:00 น.

อาการโรคซึมเศร้า ภัยร้ายที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด สาเหตุ และ วิธีการรักษา เกิดจากสาเหตุอะไร หลังพบสถิติมีคนไทยป่วยกว่า 4 พันคนต่อปี

"โรคซึมเศร้า" อาการผิดปกติของอารมณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ภัยร้ายที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด สถิติน่ากลัวของคนไทยที่มีการฆ่าตัวตายเพราะป่วยซึมเศร้าสำเร็จกว่า 4 พันคนต่อปี

ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอข่าวคนดัง ข่าวอาชญากรรม และแม้แต่ข่าวการฆ่าตัวตายที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเป็นโรคซึมเศร้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตระนักว่าโรคซึมเศร้าใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเสี่ยงหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ เพราะข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคในเชิงลึกสักเท่าไหร่ วันนี้มาทำความรู้จักโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการระแวดระวังและหาทางป้องกันหรือรีบรักษา

ปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7.6 พันล้านคน และมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% เลยทีเดียว ส่วนในคนไทยพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือ 2.2% ของคนไทยทั้งหมด 69 ล้านคน และน่าตกใจกว่านั้น คือ สถิติคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือ "โรคซึมเศร้า"

"โรคซึมเศร้า" เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่างๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจที่สามารถสลัดออกไปได้ง่ายๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและยาวนานซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถอดใจ การรักษา เช่น การทานยาหรือจิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง สามารถช่วยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น

ในปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการเลี้ยงดูแล สภาพสังคม ความคาดหวัง ความกดดัน การถูกเปรียบเทียบ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว คนรัก เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ล้วนก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ทั้งนั้น โดยโรคซึมเศร้ามักเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เราสามารถเป็นโรคซึมเศร้านี้ได้โดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัว อาการก็ลุกลามส่งผลตต่อชีวิตประจำวัน พฤติกรรม ความคิด ภาวะความรู้สึกไปเสียแล้ว

โรคซึมเศร้า เกิดจากสาเหตุอะไร?
สาเหตุที่แท้จริงของ "โรคซึมเศร้า" นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะอาการนั้นสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิต ปัจจัยหลายๆ ด้านจึงอาจส่งผลกระทบได้ อาทิ

ความแตกต่างทางด้านชีวภาพ : ได้พบความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่อาจจะช่วยชี้นำไปสู่สาเหตุของโรคได้

สารเคมีในสมอง : สารสื่อประสาทในสมองส่งผลต่อความรู้สึก จากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองและปฏิสัมพันธ์ของสารดังกล่าวกับวงจรระบบประสาท อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งสำคัญต่อการรักษา

การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน : ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลอาจจะเป็นตัวกระตุ้นภาวะซึมเศร้า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตร หรือหลังหมดประจำเดือน ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์แปรปรวนหากมีภาวะโรคไทรอยด์หรือโรคอื่นๆ

พันธุกรรม : ความเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน


9 ข้อสำรวจเข้าข่ายโรคซึมเศร้า
การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่าย "โรคซึมเศร้า" หรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็ คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1.) และ/หรือข้อ 2.) อยู่ด้วย หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

  1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
  4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ

 

ป้องกันโรคซึมเศร้าอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะซึมเศร้าที่ตายตัว แต่หากสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยควรจะควบคุมอารมณ์ ความเครียด ยืดหยุ่น รัก และนับถือตนเอง พยายามพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนโดยเฉพาะในช่วงเวลายากลำบาก เพื่อระบายความรู้สึกเมื่อเริ่มรู้สึกซึมเศร้า และสำคัญที่สุด คือ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง ควรเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะซึมเศร้าเกิดซ้ำ