ส่องเทรนด์ "นวัตกรรมสุขภาพ" ตอบโจทย์คนเมือง

10 ก.พ. 2567 | 03:45 น.

ชี้เทรนด์ “นวัตกรรมสุขภาพ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ปัญหาสร้างสุขภาวะให้คนเมือง จับตาโปรเจ็กต์นำร่อง เมืองนวัตกรรม, City Sandbox, City Data Platform, โครงการดุสิตโมเดลและวชิรโทรเวชกรรม แก้ปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, AI ช่วยรักษาผู้ป่วยจิตเวช

หนึ่งในนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือมุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานนวัตกรรมออกมาใน5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ 2. ด้านสุขภาพ 3. ด้านสังคม4. ด้านเศรษฐกิจ และ 5. ด้านการศึกษา ผ่านการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่งนำเสนอผลงานวิจัยนวัตกรรมและสุขภาพ รวมถึงการสร้างคนเมืองให้มีสุขภาพแข็งแรงที่สามารถนำมาเป็นองค์ความรู้พัฒนาเมือง พัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้   

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ร่วมกับกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีแผนงานที่ร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. เร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองนวัตกรรมในทุกมิติ

ส่องเทรนด์ \"นวัตกรรมสุขภาพ\" ตอบโจทย์คนเมือง

โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน 2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบพัฒนาเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ฯลฯ 3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตและแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ด้านรศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ สัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องอาหารเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความเสี่ยงและมีโอกาสก่อให้เกิดโรค จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ นอกจากอาหารสตรีทฟู๊ด ตามร้านอาหารต่างๆ ก็ต้องเฝ้าระวังด้วย

ยกตัวอย่างจากการสุ่มตรวจก๋วยจั๊บจากร้านอาหาร ขนมจีบกุ้งจากภัตตาคารอาหาร พบเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) และเชื้อสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส (S.aureus) ที่ก่อให้เกิดโรค ในขณะที่กุ้งแช่น้ำปลาจากร้านแผงลอยข้างทางกลับผ่านเกณฑ์ ไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ฉะนั้นความเสี่ยงทางด้านอาหารมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ส่องเทรนด์ \"นวัตกรรมสุขภาพ\" ตอบโจทย์คนเมือง

เช่นเดียวกันกับการสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นซึ่งไม่ต่างจากอาหารสตรีทฟู๊ด ผู้บริโภคควรได้รับรู้ข้อมูลสื่อสารด้านความเสี่ยงเกี่ยวกับมาตรฐานว่ามีเชื้ออะไรปนเปื้อนอยู่หรือไม่ แม้ในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครมีกองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย สุ่มตรวจเป็นระยะ แต่อาจจะไม่ทั่วถึงด้วยหลายปัจจัย ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวทางแก้ไขด้วยการเน้นสุขอนามัย ลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อโรคในอาหาร ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ รศ.พญ.สว่างจิค สุรอมร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า โครงการดุสิตโมเดลและวชิรโทรเวชกรรม เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงโควิด-19 และนำมาใช้ได้จริง เพราะสามารถแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนมากที่เดินทางมาแออัดอยู่โรงพยาบาลได้

โดยทางคณะแพทย์ได้ร่วมกันคิดแก้ไขด้วยการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ผ่านโทรเวชกรรม หรือ เทเลเมดิซีน (Telemedicine) การให้บริการทางการแพทย์ในระยะไกล ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนสำหรับคนเมือง เกิดการเชื่อมข้อมูลของโรงพยาบาลกับแอพลิเคชั่น เป็น Telemedicine Application Vajira@Home

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 2 หมื่นราย มี 4 ระบบ ได้แก่

1. ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล ให้บริการแบบครบวงจรแล้วส่งยาตรงถึงบ้าน

2. ระบบฉุกเฉิน ผู้ใช้สามารถกดปุ่มในระบบ เรียกรถพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. ประวัติสุขภาพ มีระบุข้อมูลตั้งแต่เปิดประวัติอยู่ในโรงพยาบาลว่ารักษากับแพทย์ท่านใดใช้ยาอะไร ผลตรวจเป็นอย่างไร

4. สมุดบันทึก ค่าความดัน ค่าโลหิต ค่าน้ำตาล อุณหภูมิ รวมถึงปริมาณออกซิเจน คนไข้จะลงข้อมูลให้แพทย์ทุกวันด้วยเครื่องมือเฉพาะที่สามารถตรวจวัดได้ที่บ้าน

รศ.พญ.สว่างจิค สุรอมร

สอดรับกับนางสาวอัจฉราพรรณ ยอดรัก ตัวแทนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีของกทม. มีพาร์ทเนอร์มารวมกันกว่า 30 ราย มีสถาบันเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการแพทย์กระจุกตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เหมาะสำหรับพัฒนาการแพทย์ โครงสร้างแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. พัฒนาความสามารถ และบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม สำหรับส่งเสริมและขับเคลื่อนงานวิจัยออกสู่ท้องตลาด

2. ส่งเสริมใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม

3. การบริหารจัดการเครือข่ายและบริการของย่าน

“การพัฒนาย่านโยธีสามารถพัฒนาได้จากทั้งงานวิจัยและแนวคิดของผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ โดยจะมีหน่วยงานมาร่วมขับเคลื่อนและคอยสนับสนุนให้กลายเป็นธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมี BOI มารองรับถ้างานวิจัยนั้นต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่พร้อมขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นได้อีก”

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ประจำวิชาภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทคโนโลยีแชทบอทก็สามารถเป็นนวัตกรรมและสุขภาพได้ โดย “แชท” คือการพูดคุยและ “บอท” คือหุ่นยนต์โต้ตอบ อย่าง Jubjai Bot ที่พัฒนามาจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและภาควิชาจิตเวชโรงพยาบาลศิริราช มีสถิติผู้ใช้อยู่กว่า 1 แสนราย ถือเป็น AI แชทบอทตัวแรกที่พยายามวิเคราะห์อารมณ์และสุขภาพจิตของคน ประเมินระดับผู้ใช้งานได้ว่ามีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในระดับใด

นอกจากนี้ยังพัฒนาต่อเป็น AI Psychological Intervention Open Platform เหมาะสำหรับใช้งานด้านสุขภาพจิตโดยตรง และเสริม AI ที่เกี่ยวกับ Mental Health เข้าไป เช่น การวิเคราะห์อารมณ์ วิเคราะห์ปัญหาและแนวโน้มการกระทำของผู้ใช้งาน แต่ละหน่วยงานหรือโรงพยาบาลที่ต้องการนำแชทบอทไปใช้จะ สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่าผู้ใช้งานมีสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ในภูมิภาคไหน เป็นต้น

ปัจจุบัน แชทบอทตัวนี้อยู่ในรูปแบบ Health Tech เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเข้าไปช่วยดูแลสุขภาพจิต ในอีกรูปแบบหนึ่งก็ตอบสนองกลุ่มผู้สูงอายุได้ด้วยการพูดคุยโดยใช้เสียงพูดคุยตอบโต้กัน แต่ระบบนี้ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนจิตแพทย์ได้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,964 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567