PRINC ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย ขยายเมืองรอง เพิ่มเทคโนโลยี รองรับสังคมสูงวัย

07 ม.ค. 2567 | 22:06 น.

PRINC ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจปี 67 เติบโตช้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นผลครึ่งปีหลัง เร่งปรับแผนให้บริการธุรกิจเฮลท์แคร์ เดินหน้าขยายรพ.เพิ่มในเมืองรอง เพิ่มเทคโนโลยีรักษาโรคซับซ้อน บริการระบบ Telemedicine ลงทุนศูนย์ผู้สูงวัย

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด 19 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางสุขภาพสาธารณสุขที่รุนแรงที่สุดของโลก ในปี 2566 หลายคนตั้งความหวังการฟื้นตัวในระดับโลก ระดับประเทศ

แต่ผลพวงของ Geopolitics, Climate Change ทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มประเทศต่างๆกันไป รวมทั้งสงครามที่มีความยืดเยื้อและความรุนแรง ล้วนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจซบเซา ฟื้นตัวช้ามาก ประเทศไทยเองเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อยู่ระหว่างการปรับนโยบายประเทศ ยังมีปัญหาทางด้านการเมือง สังคม และส่งผลมาถึงเศรษฐกิจด้วย

PRINC ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย ขยายเมืองรอง เพิ่มเทคโนโลยี รองรับสังคมสูงวัย

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 จึงต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าคาด ส่วนความหวังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะเห็นผลในครึ่งปีหลัง รวมทั้งโครงการดึงเงินลงทุนเข้าประเทศที่น่าจะเห็นการเติบโตอย่างช้าๆ ส่วนในภาคสาธารณสุขของประเทศ จากภาระด้านงบประมาณ ที่มีจำนวนเพิ่มสูงมากทั้งในกลุ่มโรคเฉียบพลันรุนแรงและโรคเรื้อรัง ทำให้ภาครัฐต้องจริงจังในด้านการส่งเสริมสนับสนุนการดูแลสุขภาพชุมชน ลดพฤติกรรมก่อความรุนแรงของโรค NCD ประกอบกับสังคมผู้สูงวัย ที่ยังขาดแนวทางในการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดีจากแนวโน้มดังกล่าว PRINC ได้เตรียมแผนรับมือโดยมุ่งเป็นผู้ให้บริการ ที่ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นบริการที่มีคุณภาพและราคาที่คุ้มค่า โดย PRINC เปิดโรงพยาบาลกระจายไปใน 12 จังหวัด โดยเฉพาะเมืองรองที่ขาดแคลนสถานบริการ นอกจากการรักษาโรคซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว การให้บริการที่ใส่ใจกับกลุ่มโรค NCD และการเจ็บป่วยพื้นฐานในชุมชนก็เป็นพื้นฐานสำคัญ โดยให้บริการทั้งในโรงพยาบาลและการให้บริการถึงชุมชน เช่น เปิดคลินิกย่อย และระบบ Telemedicine

ในด้านสังคมผู้สูงวัย PRINC ได้ลงทุนในสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้ต้องพึ่งพาโดยมีทั้ง บ้านลลิสา และ Health at Home ซึ่งมีสาขารวมมากกว่า 20 สาขาทั่วประเทศ ในด้านราคาในปี 2567 ต้องมีการบริการแบบเหมาจ่ายหลายโรค มีการลดราคาค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ผู้รับบริการเข้าถึงได้โดยทั่วถึง

PRINC ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย ขยายเมืองรอง เพิ่มเทคโนโลยี รองรับสังคมสูงวัย

โดยปัจจัยสำคัญคือ การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีระบบ Shared Service ให้บริการจัดการบุคลากร จัดหา จัดซื้อ ยาและเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ เพื่อควบคุมต้นทุน การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกัน และสำคัญที่สุดคือ การควบคุมคุณภาพทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อผู้รับบริการได้รับบริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม

นอกจากการเปิดให้บริการสถานพยาบาลเช่นโรงพยาบาล คลินิก ให้เพิ่มจำนวน มีการกระจายพื้นที่ให้บริการ และมีความสามารถ และศักยภาพในการดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มโรคต่างๆให้ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีรูปแบบการเติบโตที่บริษัทดำเนินการอยู่ คือ การเร่งความเร็วของการเติบโตและความหลากหลายในธุรกิจสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น

การเปิดบริษัท PRINC NEXT เป็นบริษัทในเครือที่เน้นมองหาโอกาสในการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในวงการแพทย์ในมิติอื่นๆ เช่น เครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ อาหารสุขภาพ และอื่นๆที่ทำได้ดีและต้องการขยายธุรกิจ การร่วมลงทุนเป็นช่องทางเพิ่มโอกาสได้เร็ว

PRINC ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย ขยายเมืองรอง เพิ่มเทคโนโลยี รองรับสังคมสูงวัย

รวมทั้งการร่วมกับธุรกิจใกล้เคียงเช่น บริษัทประกันฯ Wellness และอื่นๆที่เป็นไปได้ และสำคัญมากอีกด้านหนึ่งคือการร่วมมือกับภาครัฐและสถานศึกษาต่างๆในรูปแบบ PPP ทั้งในและนอกประเทศ จะทำให้เกิดความเติบโตและก้าวหน้าได้ดี รวมทั้งการคำนึงถึง ESG ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนเพื่อพัฒนาทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน

นายแพทย์กฤตวิทย์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนธุรกิจควรยึดนโยบายด้านการสาธารณสุขเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน เพื่อกระจายการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยดึงเอาศักยภาพของภาคเอกชนมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อกระจายการเข้าถึงสาธารณสุขเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ PPP

หรือการเป็นหน่วยบริการร่วมดูแลผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิ์การรักษาอื่นๆ โดยเฉพาะในโรคยากซับซ้อนที่เป็นที่ขาดแคลนในต่างจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยอาจพิจารณาจังหวัดเมืองรองที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนด้านการแพทย์ขั้นสูง และเป็นการกระจายการเข้าถึงการสาธารณสุขร่วมด้วย

“ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจเฮลท์แคร์ถือว่ามีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่มากนัก การลงทุนด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ (Information System) ด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาล เชื่อมโยงทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำให้เสริมกลไกและประสิทธิภาพในการให้บริการการรักษา ลดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ลดอุปสรรคและต้นทุนที่มองไม่เห็น

เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในราคาที่เข้าถึงได้ เช่น ในจีนขับเคลื่อนบริการสาธารณสุขด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรเวชกรรม (Telemedicine) มาดูแลประชากรในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งทำให้ เพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ต่อประชากรได้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น”

นายแพทย์กฤตวิทย์” บอกว่า ภาพรวมธุรกิจเฮลท์แคร์ในปี 2566 เติบโตได้ดี ขณะที่แนวโน้มธุรกิจเฮลท์แคร์ในปี 2567 คาดว่ายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์โลก โดยเฉพาะเติบโตของภาคการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ การแพทย์ทางเลือก และธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนส ที่ถือว่ามีโอกาสและศักยภาพเติบโตได้อีกมาก ขณะที่กำลังซื้อที่แผ่วลงจากผลพวงสภาพเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบน้อยเนื่องจากสภาพธุรกิจต้านทานสภาวะเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ ที่คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ในปี 2576 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 3 ของประชากรจะเป็นประชากรผู้สูงวัย ทางเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ มองธุรกิจเฮลท์แคร์ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุจะเติบโตราวปีละ 15-30% ในช่วงระยะ 3-5 ปีนับจากนี้

ทำให้มีความต้องการสูงในการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ ซึ่งตามแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีราวปีละ 5-6% ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและเฮลท์แอนด์เวลเนสในปี 2567 คาดว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังไม่เป็นไปตามคาด จากผลพวงเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ประกอบกับต้นทุนในการประกอบกิจการ เช่น ค่าไฟงวดไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลในเครือจำเป็นมีการปรับแผนรับมือกับสถานการณ์ ทั้งระยะสั้นและในระยะยาว

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,955 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2567