วิธีปฐมพยาบาล ผู้ป่วยฮีทสโตรก จากอากาศร้อน ฤดูร้อน

02 เม.ย. 2566 | 12:05 น.

เตรียมรับมืออากาศร้อน ในฤดูร้อน เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายอากาศ ร้อนทะลุถึง 42 องศา เรียนรู้ วิธีปฐมพยาบาล ผู้ป่วยฮีทสโตรก จากอากาศร้อน ใน ฤดูร้อน ช่วยชีวิตผู้ป่วย ลดการพิการ เสียชีวิต

“ฮีทสโตรก” ต้องถือเป็นภัยร้ายที่มากับอากาศร้อน มีที่มาจาก 2 สาเหตุ คือ Classical Heat Stroke เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมมากเกินไป หรือ Exertional Heat Stroke  เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป สามารถส่งผลถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้ เนื่องจากส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ และระบบต่างๆในร่างกาย เช่นระบบหลอดเลือด หัวใจ ระบบหายใจ ระบบสมอง เป็นต้น ฉะนั้น การปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง จะช่วยลดอันตราย และลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการ “ฮีทสโตรก” ลงได้

ฮีทสโตรก

อาการเบื้องต้นของโรคฮีทสโตรก

  • มีไข้สูงมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส
  • เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการทางผิวหนัง : ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น
  • อาการทางระบบประสาท : ปวดศีรษะ สับสน ตอบสนองช้า การรับรู้สติเปลี่ยนไป ชัก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ
  • อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ : ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว มีการคั่งของของเหลวในปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะออกน้อยหรือสีเข้ม เพราะมีการสลายกล้ามเนื้อ นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน

สัญญาณเตือนว่า กำลังมีอาการฮีทสโตรก

  • ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
  • รู้สึกกระหายน้ำมาก 
  • วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน
  • หายใจเร็ว 

หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที

ฮีทสโตรก

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฮีทสโตรก

  • นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก 
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ  ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน
  • เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด 
  • แช่ตัวผู้ป่วยลงในอ่างน้ำ ผสมน้ำแข็งในระยะเวลาไม่นาน เพื่อลดความร้อนในตัวผู้ป่วยลงโดยเร็ว
  • รีบนำส่งโรงพยาบาล

ที่มา : โรงพยาบาลวิภาวดี , สำนักงานประกันสังคมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669