รู้จักนิยาม "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" ก่อนโทร 1669

20 ม.ค. 2566 | 04:11 น.

รู้จักนิยาม "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เช็คอาการผู้ป่วย เตรียมข้อมูลให้พร้อม ก่อนโทร 1669

จากกรณีมีผู้ใช้บัญชี Tiktok รายหนึ่ง ได้เปิดเผยเรื่องราวของเธอ ในการขอรถฉุกเฉินจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เนื่องจากแฟนของเธอมีอาการหายใจติดขัด โดยก่อนหน้านี้ได้มีอาการตัวร้อน อาเจียน รับประทานข้าวไม่ได้ โดยปลายสายระบุให้รับประทานยา แล้วนอน ไม่ได้มีการส่งรถมารับตัวผู้ป่วย เนื่องจากรถฉุกเฉินมีไว้เพื่อรับ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”เท่านั้น

เธอจึงได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน เพื่อนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิต และพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มีเกล็ดเลือดต่ำ และต้องรักษาตัวในห้อง ICU จึงเกิดคำถามถึงนิยามคำว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉิน”คืออะไร 

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบพบว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้แบ่งระดับความฉุกเฉินออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • ระดับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง)  
  • ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง)  
  • ผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่รุนแรง (สีเขียว)  
  • ผู้ป่วยทั่วไป (สีขาว)  
  • ผู้รับบริการสาธารณสุขอื่นๆ (สีดำ) 

ซึ่งการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 นั้น จะให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาล  โดยลักษณะอาการของ “ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ” นั้น จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

ภาวะฉุกเฉินทางการไหลเวียนโลหิต เช่น หัวใจหยุดเต้น , เจ็บหน้าอกรุนแรง ,ความดันตกเฉียบพลัน เป็นต้น

ภาวะฉุกเฉินทางระบบประสาท เช่น ปากเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน ,ชักเกร็ง ชักกระตุก,การบาดเจ็บศีรษะรุนแรง

ภาวะฉุกเฉินทางการหายใจ เช่น สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ , หายใจเหนื่อยหอบรุณแรง ,ภูมิแพ้รุนแรง

เหตุฉุกเฉินอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่ สพฉ. กำหนด

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

โทร 1669 เตรียมข้อมูล ดังนี้

  • ข้อมูลเหตุการณ์ และลักษณะอาการของผู้ป่วย หรือ ผู้บาดเจ็บ
  • สถานที่ และเส้นทางไปยังจุดเกิดเหตุที่ชัดเจน
  • เพศ ช่วงอายุ อาการ จำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 
  • ข้อมูลระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 
  • ข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนน หรือรถติดแก๊ส
  • ชื่อผู้แจ้ง เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 
  • ช่วยเหลือผู้ป่วย,ผู้บาดเจ็บเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่