อัพเดทความคืบหน้า "วัคซีนโควิดไทย" ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนไหน คลิกเลย

09 ธ.ค. 2565 | 01:31 น.

อัพเดทความคืบหน้า "วัคซีนโควิดไทย" ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนไหน คลิกเลยที่นี่มีคำตอบ หลังปัจจุบันมีไวรัสโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักมานานครบปี

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

สัมภาษณ์ล่าสุด !! วัคซีนโควิดไทยรุ่นใหม่ กำลังเร่งพัฒนาไปสู่การรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาทุกสายพันธุ์

 

จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ซึ่งในปัจจุบันมีไวรัสโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักมานานครบปี เปิดโอกาสให้การวิจัยวัคซีนพอจะมีเวลาที่พัฒนารุ่นใหม่ขึ้นมารับมือได้ทันนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไวรัสโอมิครอนจะยืนเป็นสายพันธุ์หลัก แต่ก็มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยไปมากมาย มากกว่า 500 สายพันธุ์ย่อยแล้ว

 

ทำให้วัคซีนรุ่นที่สอง (Second Generation) หรือชนิดสองสายพันธุ์  ไม่สามารถจะพัฒนาขึ้นมารับมือกับโควิดได้ทันท่วงที

 

เช่นที่ได้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เสร็จสิ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา ของ Pfizer และ Moderna

 

กล่าวคือวัคซีนชนิดสองสายพันธุ์ดังกล่าว ประกอบด้วยไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5

 

แต่ตอนนี้สายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกา กลายเป็น BQ.1 แล้วและวัคซีนสองสายพันธุ์ดังกล่าว ถ้านำมาใช้ในประเทศไทย สายพันธุ์หลักของเราก็เปลี่ยนจาก BA.5 มาเป็น BA.2.75 แล้วเช่นกัน

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีน (VE : Vaccine Effectiveness) รุ่นที่สองได้ผลดีมากกว่ารุ่นที่หนึ่งหรือรุ่นเดิมชนิดหนึ่งสายพันธุ์ไม่มากนัก

 

ในขณะนี้ ได้มีทีมวิจัยในการพัฒนาวัคซีนโควิดของไทยอย่างน้อย 4 ทีมด้วยกันที่กำลังเร่งศึกษาวิจัย

 

หนึ่งในนั้นคือ ทีมวิจัยของใบยาไฟโตฟาร์มซึ่งมีคณาจารย์ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นนักวิจัยหลัก

 

ส่องความคืบหน้า "วัคซีนโควิดไทย" ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนไหน

ได้ทำการศึกษาวิจัย โดยการพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน ที่ใช้ใบยาสูบเป็นตัวขยายปริมาณของวัคซีน

 

และจากการพูดคุยกับนักวิจัยโดยตรงพบว่า นักวิจัยกำลังแก้ปัญหา เรื่องวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันได้ลดลง เนื่องจากปัญหาไวรัสกลายพันธุ์

 

โดยกำลังพัฒนาวัคซีนที่จะรับมือไวรัสโคโรนาได้ทุกสายพันธุ์ โดยผู้เขียนจะเรียงลำดับความเป็นมาของการวิจัยวัคซีนของทีมใบยาไฟโตฟาร์มดังนี้

 

1.วัคซีนรุ่นที่หนึ่ง หรือเจนเนอเรชั่นที่หนึ่ง เวอร์ชั่น 1.1 ชนิดหนึ่งสายพันธุ์ พัฒนาโดยใช้สายพันธุ์ไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นและใช้ตัวกระตุ้นแบบเดิม(Adjuvant)
ได้ทดลองหาขนาดที่เหมาะสมพบว่า 25 หรือ 50 ไมโครกรัมจะได้ผลดี
ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว พบว่าปลอดภัยดี ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับปานกลาง

2.วัคซีนรุ่นที่หนึ่ง เวอร์ชั่น 1.2 ยังคงเป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ได้ปรับตัวกระตุ้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม

 

ทดลองในคนเฟสหนึ่ง ตั้งแต่มีนาคม 2565 พบว่าระดับภูมิคุ้มกันขึ้นสูงกว่าวัคซีน 1.1 ที่ใช้ตัวกระตุ้นแบบเดิม จะสามารถสรุปผลได้เร็วเร็วนี้

 

3.วัคซีนรุ่นที่สอง หรือวัคซีนสองสายพันธุ์  เป็นการพัฒนาโดยใช้ไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นรวมกับโอมิครอน ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับวัคซีนสองสายพันธุ์ของ Pfizer และ Moderna

 

ได้ทดลองในสัตว์ทดลองทั้งหนูและลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถที่จะเริ่มทดลองในคนได้ต่อไป แต่อาจจะต้องชะลอออกไป เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ทำให้วัคซีนชนิดสองสายพันธุ์แม้เป็นของสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีประสิทธิผลที่ไม่ดีมากนัก

 

4.วัคซีนเจนเนอเรชั่นที่สาม หรือรุ่นที่สาม เป็นการพัฒนาของใบยาไฟโตฟาร์มเอง ที่จะทำให้วัคซีนสามารถรับมือกลุ่มของไวรัสโคโรนาได้ทั้งหมด (Pancorona virus) ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง มีการคาดการณ์ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองปี

 

แต่มีข้อดีคือ ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ไปอย่างไร วัคซีนดังกล่าวก็จะสามารถรองรับไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มของโคโรนาไวรัสด้วยกัน

 

นับเป็นความคืบหน้าล่าสุด เกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด ที่น่าสนใจและสมควรแก่การติดตามให้กำลังใจกับทีมนักวิจัยไทย ซึ่งมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่านักวิจัยต่างประเทศ

 

แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งเรื่องอุปกรณ์การวิจัย การหาอาสาสมัครกลุ่มควบคุมที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและยังไม่เคยติดโควิดตามธรรมชาติ ตลอดจนเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้การวิจัยไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วอย่างที่ทุกฝ่ายต้องการ