“1 ต.ค. วันผู้สูงอายุสากล” สปสช.เปิดสิทธิประโยชน์บัตรทองเพื่อคนไทยสูงวัย

01 ต.ค. 2565 | 04:55 น.

“1 ต.ค. วันผู้สูงอายุสากล” สปสช.ร่วมรณรงค์ดูแลคนไทยสูงวัยสิทธิบัตรทอง 9.6 ล้านคน เปิดสิทธิประโยชน์สุขภาพช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ครอบคลุมบริการ ลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล เผยปี 2564 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับบริการผู้ป่วยนอก 6.48 ครั้งต่อคนต่อปี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” หรือ “International Day of Older Persons” โดยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2534 พร้อมให้ความหมายคำว่า “ผู้สูงอายุ” คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง

 

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2565 มีผู้สูงอายุ 60 ปี จำนวน 12,116,199 คน จากประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.3 ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพถดถอยไปตามวัยที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับโรคเรื้อรังต่างๆ ทำให้เป็นกลุ่มวัยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลต่างๆ จำนวนมากและต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ การจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรเป้าหมายในการดูแลของ สปสช. ด้วยภาวะเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยบางโรคมีค่าใช้จ่ายรักษาที่สูงมาก ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตครัวเรือน ทั้งยังมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเองที่ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน ที่ผ่านมากองทุนบัตรทองได้เข้ามาช่วยลดช่องว่างปัญหานี้ได้ ด้วยสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

 

จากข้อมูลการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง ล่าสุดในปี 2564 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9,601,146 คน เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 64,235,158 ครั้ง จากการรับบริการในระบบบัตรทองทั้งหมด 167,466,598 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 38.36 โดยจำแนกเป็น 1.บริการผู้ป่วยนอก จำนวน 62,258,843 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 38.50 ของบริการผู้ป่วยนอกทั้งหมด 161,711,960 ครั้ง และ 2.บริการผู้ป่วยใน จำนวน 1,976,315 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 34.34 ของบริการผู้ป่วยในทั้งหมด 5,754,638 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในระบบบัตรทอง ใช้บริการผู้ป่วยนอก 6.48 ครั้งต่อคนต่อปี และใช้บริการผู้ป่วยนอก 0.21 ครั้งต่อคนต่อปี

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในการเข้ารับบริการนี้นอกจากการรับการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม ภาวะสมองเสื่อม หลอดเลือดหัวใจตีบ มะเร็ง และโรคตา เป็นต้นแล้ว สปสช.ยังได้จัดบริการสร้าเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ช่วยดูแลสุขภาพและป้องกันโรคให้กับผู้สูงอายุตามวัย โดยปีงบประมาณ 2566 มีสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ในรายการจ่ายตามบริการ (Fee Schedule) ดังนี้

 

บริการวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป

 

บริการคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ ประเมินภาวะโภชนาการ โรคซึมเศร้า เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจาระ (Fit-TESIT) การตรวจเนื้อเยื่อในช่องปากในกรณีพบรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก การกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม (สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรง) และคัดกรองวัณโรคใน 7 กลุ่มเสี่ยงสูง ด้วยการเอกซเรย์ปอดในผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไปที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.ยังมีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อดูแลให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2566-2567 สปสช. ได้ร่วม “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียมกรณีที่ฟันเทียมไม่สามารถยึดติดเหงือกได้ ขณะเดียวกัน สปสช.ยังมีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือฟื้นที่ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ซึ่งรวมไปถึงกองทุนดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณดูแลเพิ่มเติมที่ช่วยยกคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

 

“สปสช.ตระหนักถึงความสำคัญผู้สูงอายุไทย จึงได้จัดสิทธิประโยชน์บริการที่ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ดี โดยเฉพาะบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อชะลอความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับในการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว