เปิด 10 วิธีทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับดีเสริมสร้างสุขภาพ

10 มี.ค. 2566 | 05:00 น.

เปิด 10 วิธีทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับดีเสริมสร้างสุขภาพ กรมอนามัยระบุเป็นกลุ่มวัยที่ควรนอนพักผ่อนวันละ 7-9 ชั่วโมง ช่วยร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ป้องกันการเกิดโรค

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มวัยที่ควรนอนพักผ่อนวันละ 7-9 ชั่วโมง จะทำร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี 

ทั้งนี้ กรมอนามัยมีหลัก 10 ประการ เพื่อสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี ประกอบด้วย 

  • เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน 
  • รับแสงแดดในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที 
  • ไม่นอนในเวลากลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรเกิน 30 นาที 
  • ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่ก่อนนอน 2 ชั่วโมงไม่ควรออกกําลังกาย
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน และอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน 
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ และ สูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน 
  • นอนเตียงนอนที่สบาย 
  • ควรผ่อนคลายเพื่อลดความวิตกกังวล 
  • ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนเท่านั้น ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือกินอาหารบนเตียงนอน 
  • หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี กลุ่มวัยอื่นก็ควรให้ความสำคัญต่อการนอนที่เพียงพอ มีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี และมีระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมในแต่ละวัย ได้แก่

  • ทารกแรกเกิด อายุ 0-3 เดือน วันละ 14-17 ชั่วโมง 
  • เด็กทารก อายุ 4-11 เดือน วันละ 12-16 ชั่วโมง 
  • เด็กหัดเดิน อายุ 1-2 ปี วันละ 11-14 ชั่วโมง 
  • เด็กก่อนวัยเรียนอายุ3-4 ปี วันละ 10-13 ชั่วโมง 
  • เด็กวัยเรียน อายุ 6-13 ปี วันละ 9-11 ชั่วโมง 
  • วัยรุ่น อายุ 14-17 ปีวันละ 8-10 ชั่วโมง 
  • วัยผู้ใหญ่ วันละ 7-9 ชั่วโมง 
  • สตรีมีครรภ์ วันละ 7-9 ชั่วโมง

สำหรับความสำคัญของการนอน คือ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ได้ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน การนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับการเจริญเติบโตพัฒนาการของร่างกายและสมอง ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันสุขภาพและโรคประจำตัว 

ซึ่งการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มความโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน