รู้จัก“กรดเบนโซอิก” ภัยร้ายในอาหาร หากรับประทานมากเกินไป

24 ม.ค. 2566 | 06:23 น.

ทำความรู้จัก“กรดเบนโซอิก” สารกันเสียในอาหาร ที่จะกลายเป็นภัยร้าย หากรับประทานมากเกินไป พร้อมเช็คปริมาณกรดเบนโซอิกในอาหารที่อนุญาตให้ใส่ได้

จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มตรวจพบผลิตภัณฑ์ “โบโลน่าแซนวิช”เลขสารบบอาหาร 10-1-05734-5-0206 ผลิตโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ไส้กรอก ดี.ดี. ซอสเซส พบกรดเบนโซอิกเกินค่าความปลอดภัย อยู่ที่ 2,193 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น

"ฐานเศรษฐกิจ" พามาทำความรู้จัก“กรดเบนโซอิก” ว่า คืออะไร ทำไมจึงต้องใส่ลงไปในอาหาร และ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกาย

กรดเบนโซอิก  กรดเบนโซอิก คืออะไร

กรดเบนโซอิก และ เกลือเบนโซเอต เป็นวัตถุกันเสียชนิดหนึ่ง มีการนำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 นิยมใส่ในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อคงสภาพอาหารไม่ให้เน่าเสีย โดยกรดเบนโซอิกจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการที่จำเป็นในการดำรงชีพของจุลินทรีย์  ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญต่อไปได้

ปริมาณกรดเบนโซอิก ที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารแต่ละชนิด

ปริมาณกรดเบนโซอิกที่อนุญาตให้ใส่ได้ไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผักบด ถั่วบด หรือเมล็ดพืชบด แต่ไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้ายขนม เช่น เนยถั่ว 

ปริมาณกรดเบนโซอิกที่อนุญาตให้ใส่ได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ได้แก่ 
ผลิตภัณฑ์ผัก หรือสาหร่ายในน้ำส้มสายชู น้ำเกลือ หรือซีอิ๊ว

 

ปริมาณกรดเบนโซอิกที่อนุญาตให้ใส่ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ได้แก่ 

  • เนยเทียม (มาการีน)
  • ผลิตภัณฑ์น้ำผสมน้ำมัน (emulsion) ที่มีปริมาณน้ำมันต่ำกว่าร้อยละ 80 
  • ผลิตภัณฑ์อิมัลชัน (emulsion) อื่นๆ
  • ขนมหวานที่ทำจากไขมันอื่นที่มิใช่ไขมันนม
  • ผลไม้ในน้ำส้มสายชู น้ำมัน หรือน้ำเกลือ
  • แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด
  • ผลิตภัณฑ์ป้ายขนมที่ทำจากผลไม้ ยกเว้น แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด
  • ผลไม้กวน
  • ผลิตภัณฑ์ผลไม้บด ผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่ใช้ราดหน้า กะทิ
  • ขนมหวานที่ทำจากผลไม้ เช่น ขนมเยลลี่ ผลไม้ลอยแก้ว
  • ผลไม้ดอง
  • ผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่ใช้ทำไส้ขนม
  • ผลไม้ปรุงสุกหรือผลไม้ทอด
  • ผลิตภัณฑ์ป้ายขนมที่ทำจากผัก หรือถั่ว
  • ผักดอง
  • ผัก หรือสาหร่ายปรุงสุกและผัก หรือสาหร่ายทอด

นอกจากนั้น ซุปและซุปใส สามารถใส่ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ,ขนมหวานที่ทำจากนม สามารถใส่ได้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ เครื่องดื่มสามารถใส่ได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 

ผลของการบริโภคกรดเบนโซอิก

หากรับกรดเบนโซอิก เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่ไม่มากเกินค่ามาตรฐาน ตามปกติร่างกายจะสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ โดยหากรับประทานกรดเบนโซอิก 0.7-1.7 กรัม/วัน ร่างกายจะสามารถขับออกได้ทางปัสสาวะประมาณ 1.0-2.5 กรัม/วัน 

หากรับประทานกรดเบนโซอิกมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับ และไตลดลง หรืออาจพิการได้ หากสูดดม หรือสัมผัสไอระเหยจะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และแสบตาได้

ซึ่งตามพ.ร.บ.อาหาร มาตรา 26 ระบุโทษว่า อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ