ฝุ่น PM2.5 แนวโน้มสูงขึ้น กรมอนามัย แนะเลี่ยงออกกำลังกายกลางแจ้ง

22 ม.ค. 2566 | 04:00 น.

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น กรมอนามัย แนะเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อลดการสูดดมฝุ่น ควรเลือกออกกำลังกายในบ้าน หรือสถานที่ร่มแทน

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้ง จึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นฟุตบอล

เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้อัตราการหายใจมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสที่ฝุ่น PM2.5 จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมปอด ซึมผ่านกระแสเลือด และไปยังอวัยวะต่าง ๆ มีมากขึ้น รวมถึงไปขัดขวางการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายส่งผลให้ปริมาณของออกซิเจนลดน้อยลง ทำให้ปอดและหัวใจทำงานหนักขึ้น 

ที่สำคัญห้ามสวมหน้ากากทุกชนิด ในขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรงและเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้นและอาจเป็นอันตรายได้
 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โดยปกติ คนเราจะหายใจเอาอากาสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 ลิตร/นาที และขณะออกกำลังกายหรือวิ่ง อัตราการหายใจจะเพิ่มขึ้น อาจสูงถึง 10 – 50 ลิตร/นาที หรือมากกว่าปกติถึง 10 เท่า ทำให้หายใจเอาฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงนี้ ซึ่งฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่
 
ขอให้ประชาชนตรวจเช็กค่าฝุ่น PM2.5 อย่างสม่ำเสมอ หากอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง ขอให้พิจารณาเลี่ยงหรือลดระยะเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรืออาจออกกำลังกายในพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ และสังเกตอาการตัวเอง เวลาออกกำลังกาย หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์ และหากค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง ควรงดการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก 

สำหรับประชาชนที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ ควรเลือกออกกำลังกายในบ้าน หรือสถานที่ร่มแทน เช่น เปิดคลิปวีดีโอออกกำลังกายประเภทต่าง ๆ แล้วทำตามที่บ้าน ได้แก่ แอโรบิก โยคะ หรือ ออกกำลังกายตามสถานที่ต่าง ๆ หรือที่มีสนามในร่ม เช่น คอร์ทแบดมินตัน วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ปิงปอง สระว่ายน้ำในร่ม เป็นต้น

“ทั้งนี้ ประชาชนควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศก่อนตัดสินใจไปออกกำลังกาย ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ AirBKK ของกรุงเทพมหานคร และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงเฝ้าระวังอาการตนเองได้ที่เว็บไซต์ https://4health.anamai.moph.go.th และเมื่อสถานการณ์คุณภาพอากาศดีขึ้นก็สามารถกลับมาออกกำลังกายได้ ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด