ข่าวดี! วัคซีนโควิดเชื้อตายของไทยเริ่มวิจัยในคนเฟสสุดท้าย รู้ผลปี 66

23 ธ.ค. 2565 | 02:15 น.

ข่าวดี! วัคซีนโควิดเชื้อตายของไทยเริ่มวิจัยในคนเฟสสุดท้าย รู้ผลปี 66 ระบุเป็นชนิดเชื้อตายลูกผสม ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก คาดผลิตได้ 20-30 ล้านโดสต่อปี

วัคซีนต้านโควิดเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก

 

อย่างไรก็ดี วัคซีนโควิดมีหลากหลายยี่ห้อในปัจจุบัน หลายเทคโนโลยี

 

ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาวัคซีนโควิดเช่นเดียวกัน 

 

ล่าสุดน.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวดี !! วัคซีนโควิดชนิดเชื้อตายของไทย จะเริ่มวิจัยในมนุษย์เฟสสุดท้าย ทราบผลกลางปี 2566

 

ประเทศไทยจะดีเดย์ทดลองฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของไทยเอง ชนิดเชื้อตาย ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยองค์การเภสัชกรรม

 

โดยจะถือเป็นเฟสสุดท้ายของการวิจัยในมนุษย์ หรือเฟสที่สาม ที่จังหวัดนครพนม โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • การวิจัยเฟสสองในมนุษย์ ที่จังหวัดนครพนม จำนวนตัวอย่าง 300 คน เพื่อดูความปลอดภัยและระดับการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน พบว่าได้ผลดี
  • จะเริ่มวิจัยในมนุษย์เฟสสามซึ่งเป็นเฟสสุดท้าย โดยจะฉีดวัคซีนให้กับชาวนครพนมตามเป้าหมาย 4000 คน ในช่วง 23-29 ธันวาคม 2565 และช่วง 5-11 มกราคม 2566
  • กลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัคร จะคัดเลือกผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป โดยไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นสูง ผู้สูงอายุจึงสามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยได้ โดยต้องมีลักษณะ ไม่เคยติดโควิดในช่วงสามเดือนก่อนหน้านี้ และวันที่ฉีดวัคซีนจะต้องมีผลเอทีเคเป็นลบถ้าเคยได้รับวัคซีนสองเข็ม ต้องเป็นชนิดเดียวกัน
  • ถ้าผลการศึกษาในกลางปี 2566 ได้ผลดี ก็จะนำไปขึ้นทะเบียนกับอย.

 

วัคซีนโควิดเชื้อตายของไทยเริ่มวิจัยในคนเฟสสุดท้าย รู้ผลปี 66

 

  • ขณะนี้มีอาสาสมัครลงชื่อแล้ว 1500 คน คาดว่าจะครบ 4000 คนตามที่ต้องการ
  • ในการวิจัยเฟสสอง พบผลข้างเคียงของวัคซีนอยู่ในระดับเล็กน้อยราว 20% คือ ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด
  • วัคซีนชนิดเชื้อตายดังกล่าวขององค์การเภสัชกรรม ผลิตขึ้นที่โรงงานของเราเอง ที่อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี
  • จะมีการติดตามผลที่ 14 วัน 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน โดยหวังว่าจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่น้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆที่ฉีดกันอยู่แล้ว
  • ในการวิจัยวัคซีนรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 2) อยู่ระหว่างรอฟังผลเฟสสองอยู่
  • วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายลูกผสม ใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก คาดว่าจะผลิตได้ 20-30 ล้านโดสต่อปี

 

นับเป็นข่าวดี นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่เราสามารถพัฒนาวัคซีนจนเข้าสู่ระยะทดลองวิจัยขั้นสุดท้ายแล้ว