เปิดข้อควรปฏิบัติการตรวจ ATK ที่ถูกต้องทำอย่างไร แยกตัวกี่วัน เช็คเลย

18 พ.ย. 2565 | 03:32 น.

เปิดข้อควรปฏิบัติการตรวจ ATK ที่ถูกต้องทำอย่างไร แยกตัวกี่วัน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระแนะใส่หน้ากากระหว่างทำงาน เรียน ท่องเที่ยวนอกบ้านช่วยลดความเสี่ยง


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับ ATK

 

ย้ำอีกครั้ง

 

"หากสัมผัสความเสี่ยงมา"

 

ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หลังจากสัมผัสความเสี่ยงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

 

ตรวจ ATK หากได้ผลลบครั้งแรก ให้ตรวจซ้ำวันเว้นวัน รวม 3 ครั้ง (วันที่ 1, 3, และ 5) 

 

แต่หากตรวจพบว่าเป็นผลบวก มักแปลได้ว่าติดเชื้อ (โอกาสเกิดผลบวกปลอมน้อย) 

 

และควรเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาตามมาตรฐาน แยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน 

 

จนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ จึงจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันโดยต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด 

ใส่หน้ากากเสมอ ไม่แชร์ของกินของใช้ ไม่คลุกคลีใกล้ชิด และไม่กินดื่มกับผู้อื่น
เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว ควรเลี่ยงการใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริม และอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานการรักษาโควิดระดับสากล 

 

ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าพยาธิ ยาจิตเวช พืชผักสมุนไพรต่างๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในการรักษาโรคโควิด-19

 

"หากมีอาการป่วย ไม่สบาย สงสัยว่าจะเป็นโควิด-19"

 

เปิดข้อควรปฏิบัติการตรวจ ATK ที่ถูกต้องทำอย่างไร

 

ควรตรวจด้วย ATK หากได้ผลบวก ก็แปลว่าติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น เพื่อให้สามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง 

 

และได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ตามที่กำหนด และตามมาตรฐานสากล

 

แต่หากมีอาการป่วย แต่ตรวจ ATK ครั้งแรกได้ผลลบ ให้ตรวจซ้ำทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน 

 

เพราะการตรวจ ATK อาจให้ผลลบปลอมได้พอสมควร (ติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ) 

ระหว่างที่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจแล้วไม่ติดเชื้อโควิดนั้น นอกจากกินยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ

 

ก็ควรปฏิบัติป้องกันตัวเคร่งครัด แยกจากคนอื่น ใส่หน้ากากเสมอ แม้ยามที่อยู่ในบ้านที่อยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวด้วย 

 

การป้องกันตัวสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด 

 

และการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างตะลอนทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยวนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

จะได้ไม่ต้องคอยลุ้น ยามสัมผัสความเสี่ยงมา หรือยามที่ป่วยมีอาการ