เตือน! ติดโควิดซ้ำเสี่ยงตายมากขึ้น 2 เท่า ป่วยหนักเพิ่ม 3 เท่า

17 พ.ย. 2565 | 06:11 น.

เตือน! ติดโควิดซ้ำเสี่ยงตายมากขึ้น 2 เท่า ป่วยหนักเพิ่ม 3 เท่า หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่คณะแพทยศาสตร์ เมืองเซ็นต์หลุยส์

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 
ไม่ควรติดโควิดซ้ำ เหตุเสียชีวิตมากขึ้น 2  เท่า และป่วยหนักมากขึ้น 3 เท่า

 

จากสถานการณ์โควิดทั่วโลกที่ระบาดต่อเนื่องกันมาเกือบสามปี พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก

 

ตลอดจนมีการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้มีประชากรโลกติดโควิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 มากขึ้น

 

จึงได้มีการศึกษาว่าผู้ที่ติดโควิดซ้ำครั้งที่ 2 ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในเรื่องต่างๆมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับผู้ที่ติดโควิดครั้งแรก

 

ได้มีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารชั้นนำของโลกคือ Nature Medicine เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565

 

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่คณะแพทยศาสตร์ เมืองเซ็นต์หลุยส์ โดย Dr. Ziyad Al-Aly เป็นการเก็บข้อมูลเวชชระเบียนจำนวน 5.3 ล้านคน จาก US. Department Of Veterans Affairs

โดยมีผู้ติดโควิดหนึ่งครั้ง 443,588 คน และผู้ที่ติดโควิดตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปจำนวน 40,947 คน

 

พบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังนี้

  • ผู้ที่ติดโควิดสองครั้ง มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มเป็น 2.17 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ติดโควิดเพียงครั้งเดียว
  • ผู้ที่ติดโควิดสองครั้ง มีความเสี่ยงในการที่จะป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาลสูงเพิ่มเป็น 3.32 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ติดครั้งเดียว

ติดโควิดซ้ำเสี่ยงตายมากขึ้น 2 เท่า

  • ผู้ที่ติดโควิดสองครั้ง มีความเสี่ยงในการที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆได้แก่ ปอด หัวใจ ไต กระดูก กล้ามเนื้อ เบาหวาน ระบบเลือด สุขภาพจิต ระบบประสาท และทางเดินอาหารมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • ผู้ที่ติดโควิดตั้งแต่สามครั้งขึ้นไป มีปัญหาเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มเป็น 3 เท่า ปัญหาเกี่ยวกับปอด 3.5 เท่า และ 1.6 เท่าในระบบประสาท เมื่อเทียบกับติดครั้งเดียว ซึ่งมักจะพบในเดือนแรก แต่สามารถพบได้ไปถึง 6 เดือน
  • ไม่ว่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้าหรือโอไมครอน BA.5 ก็มีผลการศึกษาที่ไม่แตกต่างกัน
  • แม้ผู้ติดเชื้อจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็ยังคงมีความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้น

 

รายงานนี้นักวิจัยได้บอกถึงข้อจำกัด ซึ่งสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่นักวิจัยคณะนี้ เช่น Professor J. Moore จาก Cornell Medical Center ที่คิดว่ากลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้แม้จะมีจำนวนมาก แต่ไม่สามารถแทนประชากรทั่วไปได้

 

เนื่องจากเป็นเวชระเบียนของคนที่อายุมาก เป็นผู้ชายผิวขาวและมีอาการหนัก
Dr.C.Gounder จาก Kaiser Health News ได้ให้ความเห็นว่า ดูเหมือนทิศทางความเสี่ยงที่เพิ่มมากนั้น จะค่อยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง เมื่อติดเชื้อตั้งแต่ครั้งที่สามเป็นต้นไป

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว

  • ไม่ควรที่จะติดโควิด เพราะจะมีปัญหาลองโควิดได้ถึง 25% และยืดเยื้อไปได้ 6 เดือน
  • ถ้าติดโควิดไปแล้วหนึ่งครั้ง ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดครั้งที่สอง เพราะการติดครั้งที่สองขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งรบกวนอวัยวะต่างๆมากขึ้นด้วย