ผวา!สหรัฐฯสร้างโควิดสายพันธุ์ใหม่ น่ากลัวแค่ไหน เสี่ยงอย่างไร อ่านเลย

23 ต.ค. 2565 | 00:21 น.

ผวา!สหรัฐฯสร้างโควิดสายพันธุ์ใหม่ น่ากลัวแค่ไหน เสี่ยงอย่างไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยงานวิจัยของ Dr.Saeed และคณะ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน BU : Boston University

โควิด19 ยังคงมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และยังไม่สามารถมีวิธีป้องกันได้แย่างเด็ดขาด

 

แต่ล่าสุดกลับมีการ สร้างโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ทั้งที่ปัญหาเดิมก็ยังแก้ไขไม่ได้

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

เล่นกับไฟ ? นักวิจัยสหรัฐฯกำลังเล่นกับไฟ เมื่อทำการสร้างไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความรุนแรงมากกว่าเดิม อัตราการเสียชีวิตในหนูมากถึง 80%

 

หลังจากที่มีข่าวร้อนแรง เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลก ในเรื่องรายงานการศึกษาวิจัย ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่นักวิจัยของสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาขึ้น และพบว่ามีผลทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิมตามธรรมชาติ

 

หมอเฉลิมชัยได้สรุปรายละเอียด ในรูปแบบเข้าใจง่าย ที่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจในงานวิจัยที่ค่อนข้างเป็นวิชาการมากดังนี้

 

  • มีการเผยแพร่งานศึกษาวิจัยออนไลน์ (Pre-print) ที่ยังไม่ได้ผ่านการคัดกรองแบบมาตรฐาน (Peer-Review)

 

  • งานวิจัยดังกล่าว เป็นของ Dr.Saeed และคณะ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน BU : Boston University

3) การศึกษาวิจัยดังกล่าว ทำในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยบอสตันที่เรียกว่า BU’s National Emerging Infectious Diseases Laboratories ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการทบทวนความปลอดภัยทางชีววิทยาภายใน (Internal Biosafety Review Committee) ของมหาวิทยาลัยแล้ว และของเมืองบอสตัน (Boston’s Public Health Comission) ด้วย

 

4) การวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยบางส่วนจากหน่วยงานกลางของสหรัฐอเมริกาคือ NIAID ซึ่งทางผู้อำนวยการได้แจ้งว่า ตอนที่ทีมวิจัยทำเรื่องขอมานั้น มิได้ให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงว่า จะมีการพัฒนาไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นอันตราย อาจทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก(Pandemic)ได้

 

5) หลังการเผยแพร่งานวิจัยแบบออนไลน์แล้ว ก็มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย ถึงอันตราย ความเสี่ยง และความไม่เหมาะสม เช่น นักวิจัยจากอิสราเอล เป็นต้น

 

สหรัฐฯสร้างโควิดสายพันธุ์ใหม่ น่ากลัวแค่ไหน เสี่ยงอย่างไร

 

6) รายละเอียดของการศึกษาวิจัยดังกล่าว มีดังนี้

เป้าหมาย : เพื่อดูว่าส่วนหนามหรือเอสโปรตีน (Spike protein) ของไวรัสโอมิครอน เป็นตัวที่ทำให้ความสามารถในการก่อโรคโควิดลดความรุนแรงลงใช่หรือไม่ รวมทั้งหนามเป็นส่วนที่ส่งผลให้การติดเชื้อแพร่ระบาดง่ายขึ้นใช่หรือไม่

 

วิธีการ : ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงไวรัสก่อโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น ที่เรียกว่าไฮบริด(Hybrid) หรือลูกผสม โดยนำเฉพาะส่วนหนามของไวรัสโอมิครอนมาผสมรวมเข้ากับไวรัสดั้งเดิมของอู่ฮั่น ( WT : Wuhan ) เรียกชื่อใหม่ว่า Omi-S : Omicron-S

 

แล้วนำไวรัสดังกล่าวไปทดลองในหลอดทดสอบ ต่อมาจึงทดลองในหนู( Mice : K18-hACE2 ) โดยการใช้ไวรัสเข้าไปทางจมูกสามชนิดคือสายพันธุ์อู่ฮั่น (WT) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) และสายพันธุ์ไฮบริด(Omi-S) ที่พัฒนาขึ้นใหม่

ผลการศึกษา : ไวรัสใหม่ Omi-S มีความสามารถในการทำให้เกิดการติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ Omicron ตามธรรมชาติหลายเท่าตัว และสายพันธุ์ Omi-S ทำให้หนูมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า Omicron คือสายพันธุ์ใหม่เสียชีวิต 80% ในขณะที่ Omicron ไม่มีเสียชีวิตเลย

 

แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น WT ทำให้หนูตาย 100%  แต่ที่น่าสงสัยคือ ไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นเมื่อมาติดในมนุษย์ การเสียชีวิตไม่เกิน 10%

 

ข้อจำกัด : นักวิจัยได้บอกถึงข้อจำกัดว่า จะต้องมีการทดลองในสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น เช่น ลิง จะได้ผลที่ชัดเจนแน่นอนกว่าหนู

 

สรุป : นักวิจัยสรุปผลการศึกษาว่าในส่วนหนามหรือเอสโปรตีน เป็นส่วนที่รับผิดชอบความสามารถในการแพร่เชื้อที่มากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นส่วนที่รับผิดชอบต่อความรุนแรง

 

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของสารพันธุกรรมในส่วนหนาม จึงไม่สามารถอธิบายเรื่องราวทั้งหมดของคุณสมบัติไวรัสชนิดใหม่ได้

 

7) ข้อวิพากษ์วิจารณ์ : การที่นักวิจัยทำการพัฒนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลกกำลังอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

 

อาจจะเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของไวรัสหลุดออกมาจากห้องทดลอง และด้วยเหตุที่บังเอิญไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นก่อความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิม ก็จะส่งผลกระทบมากมายมหาศาลต่อมนุษยชาติ จะคุ้มกันหรือไม่

 

แลกกับความรู้ใหม่ ที่นักวิจัยตั้งใจจะเรียนรู้ เพื่อไปทำการพัฒนาไวรัสให้อ่อนแอลง

 

หมอเฉลิมชัย บอกอีกว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปคือ ทำไมมาตรฐานการกลั่นกรองการวิจัยโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยต่อสาธารณะของประเทศมหาอำนาจชั้นนำทางวิชาการ เช่น สหรัฐอเมริกา จึงปล่อยให้มีการวิจัยทำนองนี้ออกมาได้

 

แล้วผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในเมื่อหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยสนับสนุนก็ออกมาโยนกลองเรื่องความรับผิดชอบของงานวิจัย ให้กับทางทีมนักวิจัยไปแล้ว

 

เป็นเรื่องชวนปวดหัวอย่างมากของวงการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเชื้อโรคที่สามารถแพร่ระบาดติดต่อได้ ซึ่งย่อมจะเกินกว่าความรู้ความเข้าใจของวิทยาศาสตร์หรือวิชาการในปัจจุบัน

 

และน่าจะเกินความสามารถ ที่ใครจะกล้ารับประกันการควบคุมเชื้อโรคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

 

เป้าหมายที่หวังจะสร้างคุณอนันต์ ก็ย่อมเกิดโทษมหันต์ได้ด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนนี้ ยังไม่นับประเด็นเรื่องเมื่อได้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แล้ว แม้ไม่ได้หลุดรอดออกไปจากห้องปฏิบัติการ แต่อาจถูกนำไปเป็นอาวุธชีวภาพ ซึ่งจะทำลายล้างมนุษยชาติได้มากมาย จนอาจจะมากมายกว่าอาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นได้