ข่าวดี! ไทยพัฒนายาพ่นจมูกยับยั้งโควิดแทนการใส่หน้ากากสำเร็จ

02 ต.ค. 2565 | 01:29 น.

ข่าวดี! ไทยพัฒนายาพ่นจมูกยับยั้งโควิดแทนการใส่หน้ากากสำเร็จ ใช้งานอย่างไร หมอเฉลิมชัยรวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพการใช้งานไว้ให้แล้ว

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวดี ไทยพัฒนายาพ่นจมูกเพื่อดักจับและยับยั้งไวรัสโคโรนาไม่ให้เกาะเยื่อบุจมูก ไม่ใช่วัคซีนชนิดพ่นจมูก

 

1 ตุลาคม 2565 นอกจากจะเป็นวันที่ประเทศไทยได้ประกาศให้ โควิด-19 พ้นจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง รวมทั้งยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยุบ ศบค.แล้ว

 

ยังมีข่าวดีเพิ่มเติมคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรวม 5 หน่วยงานด้วยกัน

 

ทำการวิจัยพัฒนายาพ่นจมูก ที่ดักจับและยับยั้งไม่ให้ไวรัสก่อโรคโควิดได้สำเร็จ

 

เป็นการผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม และได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ใช้ชื่อว่า Vaill CoviTRAP AntiCoV Nasal Spray

โดยหลักการสำคัญคือ ยาพ่นจมูก (Nasal spray) ดังกล่าว จะออกฤทธิ์สองลักษณะคือ

 

  • เคลือบบริเวณพื้นผิวเยื่อบุจมูกด้วย HPMC ทำให้ไวรัสเกาะได้ยากขึ้น เกาะได้น้อยลง ทำให้ติดเชื้อได้น้อยลง

 

  • ความสามารถในการยับยั้งทางกายภาพ

 

ผลรวมจึงเป็นการดักจับและยับยั้งไม่ให้ไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิดเกาะที่เซลล์เยื่อบุจมูกของมนุษย์ได้

 

ไทยพัฒนายาพ่นจมูกยับยั้งโควิดแทนการใส่หน้ากากสำเร็จ

 

โดยการใช้ จะพ่นจมูกข้างละ 1-2 สเปรย์ วันละ 3 ครั้ง

 

ส่วนความร่วมมือของภาคีเครือข่ายประกอบด้วย

  • คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • องค์การเภสัชกรรม
  • บริษัทไฮไบโอไซจำกัด

ทั้งนี้ความแตกต่างที่สำคัญของยาพ่นจมูกนี้ กับยาพ่นจมูกของอินเดียซึ่งเป็นการพ่นวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อและแตกต่างกับยาสูดดมทางปากของจีน ซึ่งก็เป็นวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเช่นกัน

 

คือ ยาพ่นจมูกของไทยที่เป็นข่าวในวันนี้นั้น ไม่ใช่วัคซีน จึงไม่ทำให้ร่างกายสร้างระดับภูมิคุ้มกันที่จะขึ้นสูงสำหรับป้องกันโรค

 

หากแต่เป็นการป้องกันทางด้านกายภาพ ไม่ให้ไวรัสเกาะเยื่อบุจมูกได้

 

เอาไว้ใช้แทนหน้ากากอนามัยในกรณีที่จำเป็นต้องถอดหน้ากากออกในสถานที่เสี่ยงหรือกิจกรรมเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน

 

เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพและอย่างถูกวิธีแล้ว คงจะต้องทำการศึกษาเปรียบเทียบว่า การใส่หน้ากากอนามัยกับการไม่ใส่หน้ากากอนามัยแต่พ่นจมูก วิธีการใดจะทำให้ติดโควิดได้น้อยกว่ากัน