ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลัง 1 ต.ค. โควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง ทำอย่างไร เช็คเลย

30 ก.ย. 2565 | 00:50 น.

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลัง 1 ต.ค. โควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง ทำอย่างไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565

 

1. ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น 
ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

 

หากติดเชื้อ และกักตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75%

 

7 วัน 25-30%

 

10 วัน 10%

 

14 วัน ก็จะปลอดภัย 

 

หาก"ไม่แยกตัว" ไม่ว่าจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยก็แล้วแต่ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้มาก แม้จะใส่หน้ากากก็ป้องกันได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุ รวมถึงสถานบริการที่มีการให้บริการดูแลผู้คนจำนวนมาก ความเสี่ยงจะสูงมาก และนำไปสู่ความสูญเสียได้มากเป็นเงาตามตัว

 

การตรวจคัดกรองคนไข้ที่นอนรพ.ยังมีความสำคัญ เพราะหากติดเชื้อจะแพร่กันได้มาก และโรคโควิด-19 จะทำให้โรคร่วมที่มีอยู่แย่ลงได้ นำไปสู่ความสูญเสียได้ดังรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์
ทุกสถานที่ทำงาน นายจ้างและลูกจ้างควรปรึกษาหารือ วางแผนการทำงาน เพื่อที่จะสามารถแยกตัวจากคนอื่นได้ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน และลูกค้า 

 

ทางที่เป็นไปได้และเหมาะสมคือ "แยกตัว 7-10 วัน หรือจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ" จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน

 

ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ

 

2. หมั่นอัพเดตข้อมูลให้รู้เท่าทันสถานการณ์ระบาดทั่วโลก เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที 
 

3. หาความรู้ที่ทันสมัย ทั้งเรื่องวัคซีน ยา และเรื่องโรค โดยรับข่าวสารจากต่างประเทศและแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือ ระบุที่มา และตรวจสอบได้

 

4. ตระหนักถึงความจริงว่า โรคโควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก แม้เป็นขาลง แต่ยังไม่สิ้นสุด และมีโอกาสปะทุซ้ำได้ 

 

ขอให้จดจำบทเรียนยามวิกฤติในรอบปีกว่าที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น และเพราะเหตุใดบ้าง 

 

ใครที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรป้องกันไม่ให้ติดซ้ำ และหมั่นประเมินสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติสงสัย Long COVID ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษา

 

5. ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร ล้างมือหลังหยิบจับของสาธารณะ เว้นระยะห่างจากคนอื่น และ"ใส่หน้ากาก"อย่างถูกต้องเมื่อออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไม่ว่าจะไปเรียน ไปทำงาน หรือไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ตาม