สหรัฐฯเตือนไวรัส"ฝีดาษลิง"อาจกลายพันธุ์ ทำเชื้อดื้อยา

17 ก.ย. 2565 | 04:17 น.

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐเตือนไม่ให้ใช้ยาชนิดเดียวมากเกินไปในการรักษาโรคฝีดาษลิง โดยระบุว่า หากไวรัสฝีดาษลิงมีการกลายพันธุ์แม้เพียงเล็กน้อย จะทำให้การใช้ยาดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้ปรับปรุงคำแนะนำในสัปดาห์นี้สำหรับยาทีพอกซ์ (Tpoxx) ซึ่งได้แจกจ่ายให้กับผู้ป่วยหลายหมื่นรายที่ติดเชื้อฝีดาษลิง
          

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในการปรับปรุงคำแนะนำทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่ของ FDA เตือนว่า แม้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงระดับโมเลกุลเดียวของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ก็อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการต้านไวรัสของยาทีพอกซ์ เนื่องจากไวรัสมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำลายการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงยาที่ใช้รักษา ดังนั้น FDA จึงเน้นย้ำว่า แพทย์ควรระมัดระวังในการสั่งจ่ายยาดังกล่าว
 

ในขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) ว่า ไม่ควรมีการจ่ายยาทีพอกซ์ให้แก่ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งไม่ได้มีอาการรุนแรงอีกต่อไป
          

"สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงนั้น การดูแลแบบประคับประคองและการควบคุมความเจ็บปวด ก็อาจจะเพียงพอแล้ว" เจ้าหน้าที่ CDC ระบุในแถลงการณ์
 

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.ย. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 54,709 ราย เสียชีวิต 18 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบทวีปยุโรป ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 65) พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 8 ราย

 

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในไทย  เมื่อวันที่ 16 ก.ย.65  นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ได้รับรายงานจากสถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เป็นคนไทย อายุ 23 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไปประกอบอาชีพให้บริการที่ประเทศกาตาร์ จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า มีประวัติ   มีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีตุ่มบริเวณหลังลักษณะคล้ายสิว และเริ่มมีอาการป่วย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เบื่ออาหารและมีผื่นบริเวณฝ่ามือข้างขวา นิ้วกลางข้างซ้าย ใต้รักแร้ซ้าย แขนซ้าย หลัง ก้นและทวาร ตามลำดับ โดยรวมตุ่มแผลประมาณ 15 ตุ่ม 

 

ผู้ป่วยเดินทางกลับจากประเทศกาตาร์ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 หลังจากเดินทางเข้าประเทศไทยมีประวัติสัมผัสเพื่อนชาวไทย 2 คน คนแรก ผู้ป่วยไปเก็บของที่ห้องของเพื่อน รับประทานอาหารร่วมกัน และเข้าใช้ห้องน้ำที่ห้องเพื่อน และคนที่สอง ผู้ป่วยนำกระเป๋าไปฝากเพื่อนโดยไม่ได้เข้าไปในห้องเพื่อน ซึ่งเพื่อนทั้งสองคนไม่ได้สัมผัสผิวหนังหรือบริเวณที่มีตุ่มแผล และวันที่ 14 กันยายน 2565 จึงเข้าไปตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร และแพทย์เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันบำราศนราดูร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลพบเชื้อฝีดาษวานร
          

“สรุปได้ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว มีอาการตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศและในขณะเดินทางผู้ป่วยแสดงอาการป่วยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่มีประวัติการเดินทางไปที่ชุมชน/เข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนพลุกพล่าน หลังพบอาการต้องสงสัยจึงเข้าพบแพทย์ในทันที” นายแพทย์โอภาส กล่าว